Category: KATALYST

สตาร์ทอัพแบบไหน ที่เข้าตานักลงทุนรายใหญ่อย่าง Beacon VC

Posted on by admin_beacon_2024

ช่วงปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับ Startup ในประเทศไทยที่มีสถิติการเติบโต เป็นไปในเชิงบวก รวมทั้งโอกาสในการระดมทุนก็ดูเหมือนจะเปิดประตูกว้างขึ้น จากรายงานของ NIA หรือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) เดือนพฤษภาคม 2561 พบว่า มีเงินทุนจาก CVC ( นักลงทุนที่สนับสนุนโดยองค์กร) มูลค่าถึง 35,000 ล้าน จากภาครัฐ 60,000 ล้าน และ VC ทั้งในและต่างประเทศ 20,000 ล้านบาท แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า Tech Startup ทุกรายจะคว้าโอกาสนั้นไว้ได้

วันนี้ KATALYST จึงขอพา Tech Startup ทุกท่าน ไปพูดคุยกับ คุณธนพงษ์ ณ ระนอง หัวเรือใหญ่แห่ง Beacon Venture Capital
 ผู้ร่วมดูแลโครงการ KATALYST ที่จะมาร่วมแชร์มุมมอง สร้างความเข้าใจ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีสร้างแรงดึงดูดให้นักลงทุนสนใจ เพื่อให้ Tech Startup สามารถขยายธุรกิจและเติบโตในระยะยาวได้ตามที่ฝันไว้

Q : Beacon VC มีนโยบายหลักในการลงทุนเป็นอย่างไร
คุณธนพงษ์ : Beacon VC เป็น CVC (Corporate Venture Capital) คือได้รับเงินลงทุนจากองค์กร ให้นำเงินไปลงทุนในบริษัทอื่นอีกที ในที่นี้คือ ธนาคารกสิกร ซึ่งกำหนดนโยบายชัดเจนว่า Beacon VC ไม่ได้เน้นผลกำไรเป็นหลักครับ แต่ต้องการให้เกิดเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมที่ช่วยให้การทำงานของธนาคารมีประสิทธิภาพดีขึ้น อีกด้านคือตอบโจทย์ลูกค้าของธนาคาร ถ้า Startup รายไหนสามารถตอบโจทย์ได้ เราก็จะวิ่งเข้าไปหาเขา ไม่ใช่แค่เขาวิ่งมาหาเราฝ่ายเดียว

อย่างไรก็ตาม การลงทุนส่วนใหญ่จะไม่มีการกำหนดสัดส่วนตายตัว แต่จะคำนึงถึงการลงทุนที่ Impact ในวงกว้าง ไม่ใช่แค่จำนวนเม็ดเงิน แต่จะมองถึงจำนวนผู้ใช้หรือลูกค้า ดังนั้นเราจึงเน้นการลงทุนที่มีตลาดในกลุ่ม Mass หรือผู้ใช้งานทั่วไป และกลุ่ม SME ที่มีฐานค่อนข้างใหญ่เป็นหลัก

Q : ส่วนใหญ่จะเห็นว่า Beacon VC โฟกัสการลงทุนใน Tech Startup ระดับ Series A เป็นต้นไป ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
คุณธนพงษ์ : เพราะ Series A คือคนที่มีของแล้วครับ ต้องเข้าใจก่อนว่า Beacon เป็นส่วนของการลงทุนเพื่อหาบริการหรือผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้งานได้จริง เราจึงหลีกเลี่ยงการลงทุนที่อยู่ในช่วงไอเดียหรือยังไม่มีของเลย ส่วน Series B ขึ้นไปในประเทศไทยยังมีน้อย แต่ถ้า Series A เริ่มหาไม่ค่อยได้ ก็มีบ้างที่เราจะลงมามองหาในระดับ Pre-series A ที่ต้องลงแรงมากขึ้น

อย่าง FlowAccount ซึ่งเป็น Startup ที่ทำระบบบัญชีออนไลน์ (Accounting Online) และอยู่ในโครงการ KATALYST เขาไม่ได้มีแค่ไอเดีย แต่มีโปรดักต์ที่ชัดเจน สิ่งที่เราช่วยได้นอกจากเงินลงทุน คือ ทำยังไงให้เขาเติบโต พาเขาไปพบกับกลุ่มลูกค้า SME ของเรา

เรามองว่าระบบบัญชีออนไลน์เป็นการสร้าง Value Add ให้แก่ลูกค้ากลุ่ม SME เพราะเขาจะได้รับสะดวกสบายมากขึ้น สามารถเชื่อมต่อบัญชีกับระบบได้ สามารถสรุปยอดจากบัญชีมาให้เลย ว่าตอนนี้มีเงินเท่าไหร่ เวลาจ่ายเงินเดือนก็แค่กดปุ่ม จะมีเงินเดือนเข้าอัตโนมัติ ไม่ต้องไปลงทุนซื้อระบบ HR แพงๆ เป็นฟังก์ชันง่ายๆ และค่าใช่จ่ายถูกกว่ามาก ตอนนี้ก็กำลังคุยจะทำระบบเพิ่มเติมร่วมกันอยู่ คิดว่าภายในปีนี้น่าจะได้เห็นกันครับ

Q : ถ้าอยากเข้าถึงนักลงทุน Startup ต้องมีอะไรบ้าง
คุณธนพงษ์ : ผมว่าการเข้าถึงนักลงทุนนั้นไม่ยาก แต่การเข้ามาคุยแล้วให้ได้รับการลงทุนต่างหากที่ยาก ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อน ว่าธุรกิจของคุณตอบโจทย์ของนักลงทุนแค่ไหน ต้องรู้จักเลือกนักลงทุนให้เหมาะสม ต้องสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนว่า Startup ของคุณคุ้มค่า หรือแม้แต่การตั้งมูลค่าธุรกิจที่ไม่สูงจนเกินจริง นักลงทุนอาจจะมองว่าดีจริงแต่ราคาสูงเกินมูลค่า ถ้าลงทุนไป เขาอาจจะไปต่อไม่ได้ ไปขายต่อแพงกว่านี้ก็ไม่ไหว นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่นักลงทุนหลายคนบอกว่าไทยราคาสูงกว่าพื้นฐาน ทั้งที่จริงในเมืองไทยมีนักลงทุนเยอะมากและแย่งกันลงทุนอยู่แล้วนะ ถ้าคุณภาพของ Startup ดีพอและตอบโจทย์ของนักลงทุนรายนั้น ผมว่าหาเงินทุนได้ไม่ยากเลย

Q : การเลือกนักลงทุนให้เหมาะสม ต้องเลือกอย่างไร
คุณธนพงษ์ : ก่อนเลือกนักลงทุน ลองสำรวจก่อนว่า Startup ของคุณอยู่ Stage ไหน แล้วคุยกับนักลงทุนที่อยู่ใน Stage นั้น เช่น ถ้าคุณยังอยู่แค่ในระดับไอเดีย คุณต้องไปคุยกับนักลงทุนประเภท Angel ถ้าคุณมีแค่ MVP Product (Minimal Viable Product หรือ ผลิตภัณฑ์ตั้งต้น) อาจจะคุยกับพวก Seed Investor หรือถ้ามี Product ชัดเจนแล้ว อาจจะเริ่มคุยกับนักลงทุนระดับ Series A อย่างที่ Beacon VC ทำ

แต่ถ้าคุณยังอยู่ในระดับต้นๆ แล้วข้ามขั้นไปคุยกับ VC ที่เป็นนักลงทุนต่างประเทศระดับ Series A เลย เขาก็ไม่มาลงทุนกับคุณนะ เพราะคุณสมบัติของ Product ยังไม่ถึง Stage ของเขา เขาจะลงเงินก็ต่อเมื่อ คุณมีของแล้วและต้องมีโอกาสเติบโต โดยเฉพาะการเติบโตในต่างประเทศ การเลือกเข้าหานักลงทุนที่เหมาะสมจะเพิ่มโอกาสที่เป็นไปได้ให้คุณมากกว่า

Q : แล้วในมุมของ Beacon VC เป็นอย่างไร
คุณธนพงษ์ : สำหรับ Beacon VC ที่ผ่านมา กลุ่มที่เราต้องการลงทุนมากที่สุดคือ FinTech เพื่อส่งเสริมธนาคารให้ทำงานได้ดีขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าค่อนข้างหายากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น อีกกลุ่มที่เรามองว่ามีศักยภาพและน่าสนใจในปัจจุบัน คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce เพราะกำลังเติบโตได้ดี เมื่อทำงานร่วมกับ Startup ก็ต้องดูว่า Solution ของเขาเป็นยังไง ตอบโจทย์ได้จริงไหม มีข้อบกพร่องตรงไหน จะเกิดจุดอ่อนในการทำธุรกิจตรงไหน ต้องดูให้ครบถ้วนทุกแง่มุม

จากนั้นก็ดูว่าศักยภาพของเขาสามารถตอบโจทย์ในตลาดได้ไหม แข่งกับคู่แข่งได้ไหม สามารถเติบโตและแข่งไปได้ตลอดหรือเปล่า คือเขาต้องมีอะไรพิเศษที่เราเรียกกันว่า Unfair Advantage คืออะไรที่เขาเหนือกว่าคนอื่น มีทีมงานที่มีประสบการณ์ทำงานได้จริงหรือเปล่า มี Business Acumen หรือความหลักแหลมเชิงธุรกิจ ที่จะคุยกับแบงก์รู้เรื่องไหม มีการทดสอบระบบหรือสินค้าว่าพร้อมใช้จริงไหม สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการตัดสินใจในการลงทุนมาก ซึ่งในโครงการ KATALYST เราก็จะร่วมกับทีม Digital Partnership ของกสิกรไทยในการพิจารณาและให้คำแนะนำ Startup ในแต่ละรายครับ

Q : คำแนะนำสำหรับ Startup ที่อยากเข้าร่วมโครงการของ KATALYST
คุณธนพงษ์ : สตาร์ทอัพที่อยากร่วมงานกับ KATALYST ควรพร้อมทำงานร่วมกับองค์กร สามารถใช้เวลาด้วยกัน ทำอย่างเป็นระบบโดยเฉพาะแบบ B2B ที่ Startup บางคนอาจจะไม่ชิน เพราะติดวัฒนธรรมของสตาร์ทอัพที่ทำอะไรรวดเร็ว อาจจะขาดการจัดการด้านกระบวนการ การประยุกต์ความคิด หรือความยืดหยุ่นในเชิงธุรกิจ ถ้ามีความเข้าใจในส่วนนี้ด้วย จะทำให้การทำงานร่วมกันราบรื่นและเป็นไปได้อย่างแข็งแรงในระยะยาวครับ

กสิกรไทยจับมือ 8 พันธมิตรและ Startup จัด K SME Good To Great ปีที่สอง

Posted on by admin_beacon_2024

ธนาคารกสิกรไทยเดินหน้าโครงการ K SME Good to Great ปีที่สอง ดันกลุ่มธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง และธุรกิจค้าปลีก จัดคอร์สอัพธุรกิจเก่งให้โตด้วยการสัมมนาให้ความรู้ แคมป์อบรมเชิงลึก และการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว ผู้ร่วมโครงการ 10 ราย ที่แข็งแกร่งที่สุดจะได้รับเงินรางวัลในการพัฒนาธุรกิจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีรวม 1 ล้านบาทจากธนาคารกสิกรไทย พร้อมสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากพันธมิตรของโครงการ

 

นางสาวจิตราวิณี วรรณกร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยจัดโครงการ K SME Good to Great คอร์สอัพธุรกิจเก่งให้โต เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมศักยภาพให้ธุรกิจแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิมในทุก ๆ ด้าน เริ่มต้นโครงการครั้งแรกในปี 2561 มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 2,424 ราย และมีเอสเอ็มอีสุดแกร่งที่ได้รับรางวัลทุนวิจัยจากธนาคารไปแล้ว 8 ราย ธนาคารกสิกรไทยจึงเดินหน้าโครงการ K SME Good to Great ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง โดยปีนี้จะมุ่งเน้นเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง และกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ประมาณการณ์อัตราการเติบโตในปี 2562 ที่ 3.5%, 5.1% และ 2.8% ตามลำดับ โดยปีนี้ธนาคารได้ร่วมกับ 8 พันธมิตร ประกอบด้วยหน่วยงานส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจและแพลตฟอร์มที่ตอบสนองการทำธุรกิจของเอสเอ็มอีในด้านต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), สมาคมผู้ค้าปลีกไทย, สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย, บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด, บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด, บริษัท พาณิชย์ดิจิทัล จำกัด, บริษัท ไอท้อปพลัส จำกัด และบริษัท ซอร์ทเอาท์ จำกัด ซึ่งจะร่วมมือกันช่วยพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีที่ร่วมโครงการนี้ตลอดทั้งโครงการ โดยปีนี้จะจัดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกสำหรับธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง และครั้งที่สองสำหรับธุรกิจค้าปลีก ในแต่ละครั้งจะมีกิจกรรมแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

  1. งานสัมมนาให้ความรู้เทรนด์ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงประสบการณ์จากผู้ประกอบการในธุรกิจนั้นๆ
  2. แคมป์อบรมเชิงลึกกับผู้เชี่ยวชาญตัวจริงในแต่ละด้าน เช่น พัฒนาผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงกระบวนการผลิต จับคู่ธุรกิจเข้าช่องทางจำหน่าย กลยุทธ์การจัดการธุรกิจค้าปลีกแบบ Omni Channel เพื่อไปสู่ธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ โดยแต่ละครั้งจะคัดเลือกผู้สมัครเพียง 50 รายเท่านั้น
  3. การให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวในการทำวิจัย พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี และจะมีเพียง 10 รายเท่านั้นจาก 2 โครงการที่จะได้รับคัดเลือก รับเงินรางวัลในการพัฒนาธุรกิจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีรายละ 100,000 บาท ในส่วนของธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอางจะได้รับเงินทุนในการวิจัยธุรกิจจาก สกว. ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากโครงการ จะได้รับสิทธิ์พิจารณาเข้าช่องทางจัดจำหน่าย Central Food Hall, Tops, 24 catalog และ Shopat24.com อีกด้วย

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจเข้าร่วมโครงการ K SME Good to Great ธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นโครงการแรกที่จัดขึ้น สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 21 เมษายน 2562 ที่เว็บไซต์ www.ksmegoodtogreat.com หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ K BIZ Contact Center โทร. 02-8888822

นางสาวจิตราวิณี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ธนาคารมีพันธมิตรหลากหลายองค์กรที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มงานให้ครบเครื่องมากยิ่งขึ้น เป็นองค์ความรู้ที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงพร้อมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยธนาคารพร้อมให้การสนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการในทุกมิติ รวมทั้งเป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างเพื่อนผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกัน อันจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจได้

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ ด้านเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า เอสเอ็มอีจะต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่กําลังจะเกิดขึ้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จในธุรกิจ ได้แก่ ความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจ คุณภาพของสินค้าต้องดี รักษามาตรฐานการผลิต ใส่ใจที่เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ สร้างสินค้านวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และบริหารจัดการด้วยความเข้าใจ โครงการ K SME Good to Great นับเป็นโครงการที่ดีที่จะช่วยเอสเอ็มอีเพิ่มขีดความสามารถการทำธุรกิจ และต่อยอดผลิตภัณฑ์ ซึ่ง “นวัตกรรม” จะเป็นกุญแจหลักที่ผลักดันและเพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอีในการแข่งขันไปสู่ระดับสากลได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืนต่อไป

นายมนตรี กนกพงศกร ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายบริหารและจัดซื้อกลุ่มสินค้าอาหารบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด เปิดเผยว่า การเข้าร่วมสนับสนุนโครงการ K SME Good to Great ครั้งนี้ ตอกย้ำแนวนโยบายกลุ่มเซ็นทรัลที่ต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ด้วยการสนับสนุนเอสเอ็มอีโดยทำหน้าที่เป็นช่องทางจัดจำหน่ายสินค้า และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านค้าปลีกต่าง ๆ เพื่อให้สินค้าของผู้ประกอบการรายย่อยเป็นที่ต้องการของตลาด โดยสินค้าที่สามารถวางจำหน่ายในซูเปอร์มารเก็ตของบริษัทได้นั้น ต้องผ่านมาตรฐานตามกฎหมายกำหนด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ใช้บริการสินเชื่อธนาคารกสิกรไทย จะได้รับสิทธิพิเศษจากบริษัท ยกเว้นค่าเปิดหน้าบัญชีและค่าแรกเข้าสินค้าใหม่ พร้อมแนะนำหลักการวางแผนการผลิต การบริหารต้นทุนและกำไร การส่งเสริมการขายและใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

นายวีรวัฒน์ หงษ์สิทธิวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการโครงการ B2C e-Commerce บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทมีการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการซื้อขายเชื่อมโยงทั้งออฟไลน์และออนไลน์มาโดยตลอด ได้แก่ การจำหน่ายในเซเว่น อีเลฟเว่น การจำหน่ายผ่านแคทตาลอก ทีวีช้อปปิ้ง เว็บไซต์ คอลเซ็นเตอร์ และแอปพลิเคชัน บริษัทมีคลังจัดเก็บและการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ที่มีมากกว่า 10,000 สาขาทั่วประเทศ โดยมีระบบไอทีมาตรฐานสากลที่รองรับการทำงานแบบไร้รอยต่อ ดังนั้น ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จึงเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงออฟไลน์และออนไลน์ (O2O platform) ที่พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ให้ได้รับคำแนะนำเรื่องการพัฒนาให้เป็นที่ต้องการและสามารถเข้าถึงช่องทางเพื่อไปสู่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกไทยต้องเร่งปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการสื่อสารและการขายกับลูกค้าทางออนไลน์ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องพัฒนาเสริมไปกับการทำธุรกิจค้าปลีกแบบเดิม และไม่ต้องกังวลว่าธุรกิจค้าปลีกจะไปไม่รอด หากผู้ประกอบการพัฒนาปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถอยู่รอดต่อไปได้อย่างแน่นอน

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ของโครงการ K SME Good to Great สอดคล้องกับแนวทางของสมาคมฯ ที่ให้ความสำคัญแก่การพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่ประตูการค้าเปิดกว้างทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ช่องทางการขายจะหลอมรวมกัน ไม่มีเส้นแบ่งแยกออนไลน์และออฟไลน์ ผู้บริโภคมีความคาดหวังที่สูงขึ้นต่อการบริการในทุก ๆ ช่องทางว่าจะได้รับบริการในรูปแบบที่เป็นหนึ่งเดียวกันไม่ว่าจะซื้อผ่านทางช่องทางใด สิ่งนี้นำมาซึ่งโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่ปรับตัวได้ทันและเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

นายกัมพล ธนาปัญญาวรคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอท้อปพลัส จำกัด เปิดเผยว่า ข้อมูลเป็นทรัพยากรสำคัญประการหนึ่งที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม ต้องอาศัยความรู้ในเชิงเทคนิคช่วยในการบริหารจัดการ การจัดเก็บข้อมูลที่ดี การวิเคราะห์ข้อมูลที่มีคุณภาพ และการแสดงผลที่สื่อสารตรงจุดจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประเมินได้ว่าธุรกิจกำลังเติบโตหรือถดถอย ส่วนไหนของธุรกิจที่ดีขึ้น ส่วนไหนที่ต้องแก้ไข หรือแสดงให้เห็นโอกาสในการขยายธุรกิจได้ ทั้งนี้ การนำข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจจะสะท้อนความเป็นจริงได้ชัดเจนกว่าการใช้ความคิดเห็นหรือความรู้สึก ดังนั้น ภายใต้โครงการนี้ ไอท้อปพลัส จะร่วมแบ่งปันความรู้ให้ผู้ประกอบการเข้าใจเทคนิคการจัดการข้อมูลทั้งกระบวนการ

นางสาววณิชชา วรรคาวิสันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พาณิชย์ดิจิทัล จำกัด เจ้าของเพจ Digitory เปิดเผยว่า องค์ความรู้สำคัญประการหนึ่งที่เอสเอ็มอีจะได้จากโครงการนี้ คือ การทำการตลาดออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน การขาดความรู้ความเข้าใจในการเลือกใช้เครื่องมือทำการตลาดออนไลน์อาจจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง เพราะฉะนั้น บริษัทฯมีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเอสเอ็มอีเข้าใจกระบวนการทำการตลาดออนไลน์ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงการใช้เครื่องมืออย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายสวภพ ท้วมแสง กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ซอร์ทเอาท์ จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อการขายมีโอกาสและช่องทางมากขึ้น การบริหารจัดการข้อมูลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการดำเนินธุรกิจ เพราะทำให้เราสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์และตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการจะได้ตัวช่วยในการทำธุรกิจ อย่างครบถ้วนตั้งแต่การติดต่อกับลูกค้าไปจนถึงการปิดการขาย ทำให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการได้อย่างง่ายดาย

ทำไมวงการสตาร์ทอัพไทยยังเติบโตได้ไม่เต็มที่ ?

Posted on by admin_beacon_2024

แม้วงการสตาร์ทอัพในไทยจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เคียงข้างไปกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม หรืออินโดนีเซีย แต่ยังขาดแรงสนับสนุน การให้ความรู้ และโอกาส นอกเหนือจากนั้นวงการสตาร์ทอัพไทยยังขาดอะไรอีกบ้างในปัจจุบันถ้าอยากจะมุ่งสู่การทำ MVP (Minimum Viable Product) ให้สำเร็จ หรือเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

คุณสุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ผู้ดูแลโครงการ KATALYST จะมาร่วมแบ่งปันมุมมองตรงนี้ให้เราฟังกัน

คุณสุปรีชา มองว่า ปัญหาเบื้องต้นนั้นเกิดจากระบบการศึกษาของไทย หากเราลองเปรียบเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาคจะพบว่าธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมีคนที่เรียนหรือมาจากกลุ่มวิทยาศาสตร์สูงถึง 90% เช่น ประเทศจีนที่กำลังพัฒนาตัวกลุ่มคนที่เป็นสายวิทยาศาสตร์ขึ้นมาเยอะ ตรงกันข้าม กับบ้านเราที่ความต้องการเฉพาะด้านนี้มีมาก แต่จำนวนคนที่จบมาไม่เพียงพอ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ยังขาด “ทรัพยากรบุคคล” ที่มีประสิทธิภาพนั่นเอง

“ตอนนี้เราประสบปัญหา 3 เรื่องด้วยกัน หนึ่งคือ คนที่จบในวิทยาศาสตร์น้อย สองคือ จบมาแล้วแต่ความรู้ที่สอนในมหาวิทยาลัยไม่ค่อยตรงกับสิ่งที่ธุรกิจต้องการใช้ บางโปรแกรมที่เขาเขียนกัน ไม่ทันสมัย และปัญหาที่สาม คือบ้านเราพอเรียนวิทยาศาสตร์ ก็เน้นวิทยาศาสตร์เท่านั้นเลย โปรแกรมเมอร์ไม่รู้เลยว่าทำธุรกิจอย่างไร ฉะนั้นพอจบมาทำ FinTech นะ ต้องทำโปรแกรมเกี่ยวกับการเงิน แต่ไม่มีความรู้เรื่องการเงินเลย แล้วจะทำ Fintech ได้ยังไง”

ซึ่งจุดนี้ คุณสุปรีชามองว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำสตาร์ทอัพ ที่จำเป็นต้องมีทั้งบุคลากรฝั่งวิทยาศาสตร์และการตลาด คนที่เข้าใจทั้งฝั่งธุรกิจและการเงิน ความหลากหลายของทีม จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมกันได้มากกว่าคนที่ถนัดงานด้านเดียวกันหมด อีกทั้งประเทศไทยยังขาดแคลนเรื่องระบบ Ecosystem เช่น ระบบกฎหมายที่ยังไม่เอื้อ หรือบางคนบอกว่าเป็นเรื่องเงินทุน ซึ่งเป็นปัจจัยรอง เพราะถ้าไอเดียดี เงินทุนจะมาเอง ทว่าจุดอ่อนสตาร์ทอัพไทย คือ หลายคนยังมองแค่ Local Market ในขณะที่ทั่วโลก มุ่งเป้าไปมองแบบ Global Market ทุกอย่างที่คิดต้องเป็นสิ่งที่ทำประโยชน์ให้แก่คนทั้งโลกได้ เช่น ประเทศจีน ที่แม้จะมีตลาดในประเทศระดับพันล้าน ก็ไม่ได้เน้น Product ที่ตอบสนองแค่คนในประเทศ แต่พยายามทดลองให้กว้างขึ้น เริ่มต้นจากประเทศเขตอาเซียน เพื่อเตรียมไปสู่สนามระดับโลก

“อีกเรื่องที่ต้องสอน คือ Pitching หลายครั้งผมมองเด็กไทยในเวทีระดับโลก เขา Pitch เก่ง ชนะหมด เพราะเราเป็นประเทศที่มีจินตนาการ มีความคิดด้านนวัตกรรมที่สูง แต่สุดท้ายในทางปฏิบัติไปต่อไม่ได้ เพราะไม่มีโรงเรียนสตาร์ทอัพที่สอนให้ทำอย่างถูกต้อง ไม่มีคนลงไปช่วยสนับสนุนให้มันเกิด”

“เราอยากหาเนื้อคู่ให้เขา” คุณสุปรีชากล่าว เนื่องจากมองว่า KATALYST จะสามารถเป็นสะพานเชื่อมโยงให้สตาร์ทอัพที่ต้องการเติบโตได้มีโอกาสพบพันธมิตร คู่คิดและโอกาสใหม่ๆ ในการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ และเป็นตัวกลางให้เกิดการทำงานที่สร้าง Solution ให้แก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพ ลูกค้าของธนาคาร หรือกลุ่มผู้บริโภคปลายทาง ได้รับผลประโยชน์สูงสุด

กสิกรไทย จับมือ แกร็บ ดันไทยเดินหน้าสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัล

Posted on by admin_beacon_2024

ธนาคารกสิกรไทย และ แกร็บ ผู้นำแพลตฟอร์มออนไลน์-ทู-ออฟไลน์ (O2O) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกาศความร่วมมือผลักดันให้เกิด ‘ดิจิทัล ไลฟ์สไตล์ อีโคซิสเต็ม’ (Digital Lifestyle Ecosystem) โดยใช้ศักยภาพความเป็นผู้นำด้านดิจิทัล แบงกิ้ง ของธนาคารกสิกรไทย ในการพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน เพื่อร่วมสร้างประสบการณ์ใหม่ ของการใช้บริการแกร็บอย่างไม่มีสะดุด โดยเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้บริการทั้งระบบ ได้แก่ ลูกค้าที่ใช้บริการ, ผู้ขับขี่, ร้านค้า และตัวแทนของแกร็บ ความร่วมมือดังกล่าวประกอบด้วย บริการทางการเงินแกร็บเพย์ บาย เคแบงก์ แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่เตรียมเปิดตัวในปีหน้า รวมถึงขยายการให้บริการทางการเงินอื่นๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทย ยังได้ร่วมลงทุนในแกร็บเป็นมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เปิดเผยว่า “แกร็บมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ การนำนวัตกรรมมาช่วยยกระดับประเทศไทยไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์บนสมาร์ทโฟนที่เกิดจากความร่วมมือดังกล่าว จะทำให้คนไทยเข้าถึงระบบการชำระเงินระบบดิจิทัลที่สะดวกและปลอดภัยได้มากขึ้น สิ่งนี้เป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นที่จะทำให้แกร็บ เป็นซูเปอร์แอพสำหรับทุกวัน (Everyday Super App) ที่ตอบสนองความต้องการในแต่ละวันของลูกค้าให้ดีที่สุด”

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า “ทิศทางธุรกิจในระดับภูมิภาคของธนาคารกสิกรไทย คือ มุ่งขยายธุรกิจไปยังตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน +3 ซึ่งเป็นตลาดที่มีโอกาสนำศักยภาพดิจิทัล เทคโนโลยีมาใช้ผ่านช่องทางดิจิทัลและบริการต่างๆ บนสมาร์ทโฟน โดยธนาคารได้วางกลยุทธ์ในการร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในแต่ละธุรกิจ ด้วยคอนเซปต์ “Better Together” ด้วยการผสานจุดแข็งของแต่ละฝ่าย เพื่อร่วมกันนำเสนอบริการที่ดีที่สุดให้กับการใช้ชีวิตของลูกค้าในทุกๆ วัน”

“ความร่วมมือระหว่างธนาคารกสิกรไทย และแกร็บ ทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ในการร่วมกันพัฒนานวัตกรรมให้กับอุตสาหกรรมและภูมิภาคที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ธนาคารยินดีที่ได้ร่วมทำงานกับแกร็บในการปรับเปลี่ยนประสบการณ์ของลูกค้าทั้งวงจรของการให้บริการไปสู่ “ดิจิทัล ไลฟ์สไตล์ อีโคซิสเต็ม” (Digital Lifestyle Ecosystem) เต็มรูปแบบ ทั้งผู้ใช้บริการแกร็บ ผู้ขับรถ และร้านค้า รวมถึงการยกระดับระบบขนส่งและจัดส่งที่ปลอดภัย มีราคาที่เหมาะสม ให้กับผู้ใช้บริการแกร็บหลายล้านราย ตลอดจนผู้ใช้บริการรับส่งอาหารและพัสดุ ผู้ใช้บริการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟน และบริการทางการเงินต่างๆ ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายในการเป็นดิจิทัล แบงกิ้งที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค ซึ่งการร่วมกันพัฒนากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์บนสมาร์ทโฟนและการลงทุนในแกร็บ จะทำให้ธนาคารสามารถนำศักยภาพของแกร็บมาทำให้เกิดประโยชน์กับร้านค้าและลูกค้าของธนาคารที่อยู่ในประเทศไทย โดยการลงทุนของธนาคารผ่านบริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (Beacon VC) ในครั้งนี้ถือเป็นการร่วมทุนครั้งแรกกับบริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจหลักอยู่นอกประเทศไทย ซึ่งมีความสำคัญอยู่ที่ฐานจำนวนผู้ใช้ทั่วอาเซียนของแกร็บที่มีโอกาสเติบโตเทียบเท่ากับสถาบันการเงินชั้นนำ โดยธนาคารจะร่วมกันกับแกร็บในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะส่งเสริมศักยภาพของธนาคารให้ก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้”

ในความร่วมมือดังกล่าว ครอบคลุมการพัฒนาแอปพลิเคชันการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟน และบริการทางการเงินต่าง ๆ ร่วมกัน

  1. แกร็บเพย์ บาย เคแบงก์ (GrabPay by KBank) เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์บนสมาร์ทโฟน (Mobile Wallet) ที่จะทำให้ลูกค้าแกร็บชำระเงินค่าเดินทางและค่าบริการรับส่งของ ตลอดจนสามารถโอนเงินให้กับเพื่อนหรือครอบครัวใช้สำหรับซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ รวมทั้งใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดในร้านอาหารหรือร้านค้าต่างๆ ทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นผลจากบริการพร้อมเพย์ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชําระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Scheme) ทำให้ร้านค้าสามารถใช้บริการ “แกร็บเพย์ บาย เคแบงก์” ได้ทันทีที่เปิดให้บริการ
  2. การพัฒนาให้แอปพลิเคชันเคพลัสและแกร็บให้ใช้งานร่วมกันได้ ทำให้ลูกค้าใช้บริการตลอดวงจรการให้บริการของทั้งธนาคารกสิกรไทยและแกร็บได้อย่างราบรื่น
  3. นำเสนอผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าที่อยู่ในวงจรการให้บริการของธนาคารกสิกรไทยและแกร็บ โดยธนาคารกสิกรไทยและแกร็บ ร่วมกันนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้กับกลุ่มลูกค้าของตนเอง เช่น การเสนอสินเชื่อกสิกรไทยให้ผู้ขับรถแกร็บสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น การนำเสนอบริการ “แกร็บ ฟอร์ บิสซิเนส” (Grab for Business) ให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารกสิกรไทย เพื่อช่วยบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการเดินทางของบริษัท ตลอดจนการสื่อสารสร้างการรับรู้แบรนด์และเข้าถึงลูกค้าผ่านบริการโฆษณาของแกร็บ

“ในปีพ.ศ. 2561 แกร็บ ไฟแนนเชียล ได้ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำแพลตฟอร์มฟินเทคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ใช้ต่อเดือน (Monthly Active Users) และมูลค่าการใช้จ่ายรวม (Total Payments Volume) การร่วมมือทางธุรกิจในครั้งนี้จะทำให้แกร็บ ไฟแนนเชียลเป็นแพลตฟอร์มแรกบนสมาร์ทโฟนที่ได้รับใบอนุญาตในการเปิดให้บริการระบบชำระเงินใน 6 ประเทศอาเซียน รวมถึงตอกย้ำความแข็งแกร่งในกลยุทธ์การร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ จากการที่แกร็บเปิดแพลตฟอร์มนี้เอง ทำให้มีธุรกิจด้านการเงินชั้นนำจำนวนมากที่ต้องการร่วมมือกับแกร็บเพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น” มร. รูเบน ไหล ผู้อำนวยการจัดการอาวุโส แกร็บไฟแนนเชียล กล่าว

กสิกรไทย-อฮอร์แกไนซ์ ส่งโซลูชันจัดการธุรกิจหอพัก อพาร์ตเมนต์

Posted on by admin_beacon_2024

ธนาคารกสิกรไทยจับมือฮอร์แกไนซ์ นำเสนอเทคโนโลยีโซลูชันเพื่อช่วยผู้ประกอบการหอพัก อพาร์ตเมนต์จัดการธุรกิจแบบครบวงจร เรียกเก็บและรับชำระเงินได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมระบบจัดการข้อมูลและการสื่อสารกับผู้เช่า เพิ่มความคล่องตัวและอำนวยความสะดวกทั้งเจ้าของหอพัก อพาร์ตเมนต์ และผู้เช่า โดยธนาคารมอบสิทธิพิเศษให้ผู้ประกอบการที่ใช้แอปพลิเคชันฮอร์แกไนซ์ รับสินเชื่อธุรกิจอพาร์ตเมนต์อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อ 500 ล้านบาท พร้อมร่วมกันจัดสัมมนาให้ความรู้ผู้ประกอบการธุรกิจหอพักอพาร์ตเมนต์ทั่วประเทศ

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการธุรกิจหอพัก อพาร์ตเมนต์ที่ขอใบอนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศ จำนวน 18,256 ราย (ข้อมูลล่าสุดปี 2560) โดยส่วนใหญ่จะเป็นหอพัก อพาร์ตเมนต์อยู่ในจังหวัดที่เป็นเมือง มีความเป็นชุมชนหนาแน่น มีการเคลื่อนไหวของกิจกรรมเศรษฐกิจ ทั้งการค้า การลงทุนในภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และจังหวัดที่มีจำนวนสถาบันการศึกษาสูง แม้ว่าเจ้าของธุรกิจหอพัก อพาร์ตเมนต์จะดูเหมือนเป็นเสือนอนกิน แต่ก็มีปัญหาในการบริหารจัดการธุรกิจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลที่ไม่เป็นระบบ มีปริมาณเอกสารจำนวนมากที่ต้องจัดการ การเก็บค่าเช่าที่ต้องคอยทวงถามจากผู้เช่า การทุจริตของพนักงาน การแข่งขันที่สูงขึ้น อีกทั้งล่าสุดกฎหมายเกี่ยวกับหอพัก อพาร์ตเมนต์ ที่มีผลเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจัดการธุรกิจของผู้ประกอบการอีกด้วย

ล่าสุดธนาคารกสิกรไทย ได้ร่วมมือกับฮอร์แกไนซ์ (Horganice) แอปพลิเคชันเพื่อการจัดการธุรกิจหอพัก อพาร์ตเมนต์ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างผู้ประกอบการหอพัก อพาร์ตเมนต์ และผู้เช่า เสนอโซลูชันระบบจัดการธุรกิจหอพักอพาร์ตเมนต์แบบครบวงจร ยกระดับการบริหารจัดการธุรกิจ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการหอพัก อพาร์ตเมนต์ บริหารจัดการธุรกิจได้ง่ายขึ้น ดังนี้

การบริหารจัดการข้อมูลได้เป็นระบบมากขึ้น ช่วยให้เจ้าของหอพักอพาร์ตเมนต์รู้ข้อมูลผู้เช่า ข้อมูลรายได้ โดยผู้ประกอบการสามารถเรียกดูรายงานรายรับ-รายจ่าย กำไร-ขาดทุน ได้ตลอดเวลา ทำให้รู้สถานะของธุรกิจได้แบบเรียลไทม์

การบริหารจัดการด้านการเงิน ช่วยให้การเก็บค่าเช่าของเจ้าของหอพักอพาร์ตเมนต์ มีความสะดวกและเป็นระบบมากขึ้น หมดปัญหาเรื่องพนักงานรับเงินโกงเงินค่าเช่า เพราะระบบจะมีการแจ้งเตือนค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ให้กับผู้เช่าทราบ ในส่วนของผู้เช่าเองก็สะดวกด้วยการชำระค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ผ่านแอปพลิเคชัน K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม

มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีทำให้ธนาคารมีข้อมูลในการพิจารณาสินเชื่อ โดยเจ้าของหอพักอพาร์ตเมนต์ที่ใช้งานแอปพลิเคชันฮอร์แกไนซ์ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป รับสิทธิ์ขอสินเชื่อธุรกิจอพาร์ตเมนต์ วงเงินสูงสุด 30 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุด 15 ปี และในกรณีที่วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาท จะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 0% นาน 6 เดือน

การให้ความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจ ธุรกิจหอพักอพาร์ตเมนต์จัดเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ธนาคารจึงร่วมกับฮอร์แกไนซ์จัดการสัมมนาความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจทั้งในด้านการตลาด กฎหมาย รวมถึงการบริหารจัดการหอพัก อพาร์ตเมนต์ เพื่อให้ผู้ประกอบการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้

นายสุรัตน์ กล่าวตอนท้ายว่า ธนาคารกสิกรไทยเดินหน้าพัฒนาบริการทางการเงินเพื่อผู้ประกอบการ และเชื่อมต่อเทคโนโลยีและแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อช่วยยกระดับการบริหารจัดการธุรกิจของผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาธนาคารมีการส่งมอบโซลูชั่นเพื่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจร้านอาหาร และล่าสุดคือความร่วมมือกับฮอร์แกไนซ์ส่งมอบโซลูชันจัดการธุรกิจหอพัก อพาร์ตเมนต์ครั้งนี้ ซึ่งธนาคารเชื่อมั่นว่าจะเป็นโซลูชันที่ตอบสนองความต้องการของธุรกิจหอพักให้เช่าได้อย่างตรงจุด ลดภาระการจัดการธุรกิจ เพื่อให้ลูกค้าใช้เวลาไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจในด้านที่มีความเชี่ยวชาญและเพิ่มมูลค่าได้ ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อธุรกิจอพาร์ตเมนต์ที่ 500 ล้านบาท

นายธนวิชญ์ ต้นกันยา Founder & CEO บริษัท ฮอร์แกไนซ์ จำกัด เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่างฮอร์แกไนซ์และธนาคารกสิกรไทยครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อช่วยแก้ปัญหาการบริหารจัดการธุรกิจของเจ้าของหอพักอพาร์ตเมนต์ ให้สามารถไปสู่เป้าหมายของการเป็น “เสือนอนกิน” โดยแท้จริง คือ สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น มีรายได้สม่ำเสมอ ลดต้นทุนธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำไรในระยะยาวให้กับผู้ประกอบการได้ โดยฮอร์แกไนซ์จะช่วยจัดการปัญหาของผู้ประกอบธุรกิจหอพักอพาร์ตเมนต์ในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ การทำงานที่ไม่เป็นระบบ ไม่สามารถดูแลพนักงานได้ทั่วถึง ไม่ทราบสภาพธุรกิจที่แท้จริง นอกจากนี้ การจัดการบัญชีที่ไม่เป็นระบบทำให้คำนวณผลกำไร ขาดทุน ได้ไม่สมบูรณ์ รวมทั้งข้อมูลออฟไลน์ จึงขาดความคล่องตัว ซึ่งผู้ประกอบการหอพักอพาร์ตแมนต์ที่ใช้แอปพลิเคชัน ฮอร์แกไนซ์ จะมีความคล่องตัวขึ้นจากการใช้ระบบผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน โดยจะมีฟังก์ชั่นที่ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการทราบสภาพธุรกิจที่แท้จริง และนำผลไปต่อยอดพัฒนาหรือปรับแผนได้ไวขึ้น และยังช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เช่าที่ใช้งานแอปฯด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ แอปฯ ฮอร์แกไนซ์ จะมีฟังก์ชันในการติดต่อสื่อสารระหว่างเจ้าของหอพักกับผู้เช่า ผู้เช่าสามารถแจ้งปัญหาห้องพักที่ต้องการให้ซ่อมแซม แจ้งทำความสะอาด หรือแจ้งย้ายออกได้สะดวกขึ้น โดยไม่ต้องรอพบเจ้าหน้าที่ออฟฟิศหอพัก หรือไม่ต้องเขียนใบคำร้อง ในขณะเดียวกันฝั่งเจ้าของก็สามารถรับแจ้งได้รวดเร็ว จึงบริหารจัดการทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายธนวิชญ์ กล่าวตอนท้ายว่า นอกเหนือจากประโยชน์ที่ได้จากฟังก์ชันของระบบแล้ว ฮอร์แกไนซ์ยังมีโปรโมชันพิเศษ ให้กับลูกค้าธนาคารกสิกรไทย เมื่อเลือก Business Package หรือ Professional Package รายปี จะได้เพิ่มการใช้งาน ฟรี 3 เดือน ซึ่งการร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยในครั้งนี้ นอกจากจะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจหอพักอพาร์ตเมนต์สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้คล่องตัวยิ่งขึ้นแล้ว ยังมีส่วนร่วมส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับการจัดการธุรกิจของผู้ประกอบการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย

กสิกรไทยมุ่งเสริมแกร่ง SME โตแบบเข้มแข็งสู้วิกฤตโควิด 19

Posted on by admin_beacon_2024

กสิกรไทย หนุน FlowAccount สตาร์ทอัพบัญชีออนไลน์ ส่งโปรแกรมบัญชีให้ SME ใช้ฟรี มูลค่ารวม 3 ล้านบาท หวังให้ SME ทำบัญชีเป็นระบบ เสริมแกร่งธุรกิจสู้โควิด 19

กสิกรไทยมุ่งเสริมแกร่ง SME โตแบบเข้มแข็งสู้วิกฤตโควิด 19 แจกฟรีโปรแกรมบัญชีออนไลน์ FlowAccount โปรแกรมบัญชีของธุรกิจสตาร์ทอัพที่ใช้งานง่าย ให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารจำนวน 1,000 ราย มูลค่ารวม 3 ล้านบาท หวังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจอย่างเป็นระบบ รู้สถานะทางการเงิน ช่วยบริหารต้นทุน สร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และช่วยหนุนให้ธุรกิจเดินต่อได้แม้เผชิญกับสถานการณ์วิกฤต

นายพิภวัตว์ ภัทรนาวิก รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งฉุดเศรษฐกิจโดยรวมให้ลดต่ำลง ส่งผลให้เอสเอ็มอีจำนวนมากได้รับผลกระทบในการดำเนินธุรกิจ ต้องปรับตัวรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น ซึ่งการมีข้อมูลที่พร้อมนำมาใช้ในการวิเคราะห์สถานะและวางแผนในการทำธุรกิจได้ทันที จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ธนาคารจึงพร้อมสนับสนุนให้ SME นำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการธุรกิจ เพื่อให้การจัดการธุรกิจสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ เจ้าของธุรกิจสามารถดูข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลาเพื่อใช้ในการบริหารจัดการ

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกสิกรไทย จึงแจกโปรแกรมบัญชีออนไลน์ FlowAccount โปรแกรมบัญชีของสตาร์ทอัพที่ใช้งานง่าย ให้กับลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของธนาคารจำนวน 1,000 ราย ให้ใช้ฟรีเป็นระยะเวลา 1 ปี มูลค่ารวม 3 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจมีการจัดการที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสามารถนำข้อมูลมาปรับใช้รับมือกับวิกฤตที่เข้ามาได้อย่างรวดเร็ว โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็กในกลุ่มอุตสาหกรรมค้าส่ง, ค้าปลีก, บริการ, ขนส่ง และสื่อสาร ที่สนใจใช้บริการโปรแกรมบัญชีออนไลน์

นายกฤษฎา ชุตินธร ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โฟลว์แอคเคาท์ จำกัด สตาร์ทอัพผู้พัฒนาโปรแกรมบัญชีออนไลน์ FlowAccount เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยเป็นองค์กรที่มีความใกล้ชิดและมีประสบการณ์ในการดูแลธุรกิจ SME มานาน ทำให้เข้าใจถึงปัญหาที่ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เพราะขาดการทำบัญชีที่เป็นระบบและถูกต้อง ซึ่งโปรแกรมบัญชี FlowAccount เป็นระบบบัญชีออนไลน์บนคลาวด์ที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว เพียงแค่ออกเอกสารทางธุรกิจใน FlowAccount ระบบจะเชื่อมโยงข้อมูลจากเอกสารมาบันทึกบัญชีให้โดยอัตโนมัติ พร้อมสรุปยอดขายและรายจ่ายในแดชบอร์ดที่ดูได้ทั้งในเว็บไซต์และมือถือ และนำข้อมูลไปใช้วางแผนธุรกิจต่อได้ทันที ช่วยผู้ประกอบการลดเวลาการทำบัญชีในโปรแกรม Excel หรือการเขียนเอกสารด้วยมือเอง และยังป้องกันการคำนวณผิดพลาด หรือการทำเอกสารสูญหาย ทั้งหมดนี้เป็นการเปลี่ยนวิธีการทำบัญชี ให้สามารถเริ่มต้นทำด้วยตนเองอย่างง่ายๆ และยังทำงานสะดวกได้ทุกที่ทั้งในคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และมือถือ ไม่ติดกับข้อจำกัดว่าต้องทำบัญชีแต่ในออฟฟิศอีกต่อไป

นายธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด เปิดเผยว่า FlowAccount เป็นสตาร์อัพที่บีคอนฯ ได้ร่วมลงทุนมาตั้งแต่ปี 2560 ในช่วงที่ผ่านมา FlowAccount ได้พัฒนาและนำเสนอบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการให้กับผู้ประกอบการ SME มาอย่างต่อเนื่อง และจากความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจาก FlowAccount จะช่วยผลักดันลูกค้าธนาคารให้สามารถทำบัญชีได้ง่ายและเป็นระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจยิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นโอกาสของ FlowAccount ต่อการขยายฐานสมาชิกการใช้งานโปรแกรมบัญชีออนไลน์ให้กว้างขวางมากขึ้น ความร่วมมือดังกล่าวเป็นตัวอย่างของเป้าหมายในการลงทุนของบีคอนฯ ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนสตาร์ทอัพ เพื่อยกระดับเทคโนโลยีทางการเงินหรือฟินเทคในภาคธุรกิจไทยให้ยั่งยืนและแข่งขันได้ และสร้างประโยชน์และความสามารถในการแข่งขันให้กับลูกค้าของธนาคารกสิกรไทย

Stablecoin กับประโยชน์ส่งเสริม Borderless Payment

Posted on by admin_beacon_2024

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าคริปโตเคอร์เรนซีทุกสกุลนั้นมีความผันผวนสูงไม่ต่างกัน แต่ความจริงแล้วยังมีสกุลของคริปโตเคอร์เรนซีที่ราคาเสถียรอยู่บนโลก เราเรียกมันว่า Stablecoin ซึ่งขณะนี้เหรียญชนิดดังกล่าวกำลังมีบทบาทในการส่งเสริม Borderless Payment หรือการทำธุรกรรมระหว่างประเทศแบบ Real-Time Remittance อย่างไม่น่าเชื่อ

แต่ก่อนที่เราจะไปถึงตรงนั้น มาทำความรู้จัก Stablecoin กันดีกว่าว่าคืออะไร มีกี่ประเภท ทำไมถึงมีโอกาสได้รับความนิยม ปิดท้ายด้วย Stablecoin สำคัญกับ Borderless Payment อย่างไร

 

Stablecoin คืออะไร

Stablecoin คือ “คริปโตเคอร์เรนซีหรือสกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่ โดยอาศัยกลไกต่าง ๆ เพื่อการตรึงมูลค่า เช่น สกุลเงินของโลก (Fiat) สินทรัพย์ต่าง ๆ หรือการใช้อัลกอริทึมของเหรียญ เป็นต้น” มีประโยชน์ตรงที่ทำให้ผู้คนมีสิทธิ์และอิสระเสรีในการเลือกใช้เงินมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่ต้องประสบกับปัญหาเงินเสื่อมมูลค่าลง หรือเงินเฟ้อ ดังนั้น หากทุกคนสามารถเข้าถึง Stablecoin ได้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินสกุลใดสกุลหนึ่งอีกต่อไป

 

Stablecoin มีกี่ประเภท

Stablecoin แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่

 

1. Fiat – collateralized: รองรับด้วยเงินเฟียต

Stablecoin ประเภทนี้รองรับด้วยเงินสกุลต่าง ๆ บนโลก (Fiat) อย่างเช่น เงินดอลลาร์ เงินยูโร หรือเงินบาท เป็นต้น ทำให้ราคามีความใกล้เคียงหรือเท่ากับสกุลเงินในโลกแห่งความเป็นจริง โดยเราสามารถแลกเปลี่ยน Stablecoin ชนิดนี้ได้ที่แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน

ตัวอย่าง

  • Tether (USDT) เป็น Stablecoin ที่อ้างอิงมูลค่ากับดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจุบัน 1 เหรียญ USDT มีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์ และเป็น Stablecoin ที่มีมูลค่าเป็นอันดับ 1 ของตลาดคริปโตเคอร์เรนซี

2. Commodity – collateralized: รองรับด้วยสินค้าโภคภัณฑ์

Stablecoin ประเภทนี้มักรองรับด้วยสินทรัพย์ต่าง ๆ บนโลก อย่างเช่น ทองคำ น้ำมัน ที่ดิน หุ้น ตราสาร หรือกองทุน นอกจากนี้ ยังมีบาง Stablecoin ที่รองรับด้วยสินค้าอื่น ๆ เช่น โลหะ เป็นต้น

ตัวอย่าง

  • Digix Gold (DGX) เป็น Stablecoin ที่อ้างอิงมูลค่ากับทองคำ โดย 1 เหรียญมีค่าเท่ากับทองคำ 1 กรัม สามารถนำไปแลกเป็นทองคำจริงได้ที่สิงคโปร์
  • Tiberius Coin (TCX) เป็น Stablecoin ที่รองรับด้วยโลหะชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

 

3. Crypto – collateralized: รองรับด้วยคริปโตเคอร์เรนซี

Stablecoin ประเภทนี้รองรับด้วยคริปโตเคอร์เรนซี ข้อดีคือมันสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวมันเองได้ เพราะระบบจะมีความเป็น Decentralized ที่ไม่อ้างอิงกับตัวกลางใด ๆ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องใส่คริปโตฯ มากกว่า Stablecoin ที่สร้างออกมาถึงจะสามารถทำได้ เนื่องจากคริปโตฯ มีความผันผวนสูงมาก หากมูลค่าคริปโตฯ ลดลง ย่อมมีโอกาสที่จะถูกตัดเงินทันที

ตัวอย่าง

  • Dai เป็น Stablecoin บนบล็อกเชน Ethereum สามารถนำโทเค็น ERC-20 ที่ MakerDAO ยอมรับไปค้ำประกันมูลค่าเพื่อถอน DAI ออกมาได้

4. Non – collateralized: ไม่รองรับด้วยอะไรเลย

การสร้าง Stablecoin ประเภทนี้จะไม่รองรับด้วยอะไรเลย ดังนั้น การถูกควบคุมมูลค่าจึงเป็นการปรับลดดอกเบี้ยหรือปรับลดอุปทานเช่นเดียวกันกับการควบคุมมูลค่าของเงินตราทั่วไปในปัจจุบัน เช่น จากเดิมที่เหรียญนั้นมีมูลค่าในตลาด 2 ดอลลาร์ ระบบจะสร้างเหรียญเพิ่มขึ้นมาใหม่เพื่อลดมูลค่าของเหรียญให้เหลือ 1 ดอลลาร์นั่นเอง

ตัวอย่าง

  • Basis เป็น Stablecoin ที่ปรับลดอุปทานของเหรียญเพื่อให้เหรียญมีมูลค่าคงที่

 

ทำไม Stablecoin มีโอกาสได้รับความนิยมอยู่เสมอ

  • วิกฤตเศรษฐกิจโลกและความเสี่ยงของประเทศคู่สัญญาเพิ่มขึ้น
  • ค่าเงินอื่น ๆ เริ่มผันผวนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ที่ค่อนข้างมั่นคงกว่า
  • มีการการใช้ Stablecoin ในการชำระเงินมากขึ้น

 

Stablecoin สำคัญกับ Borderless Payment อย่างไร

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่าประโยชน์ของ Stablecoin ทำให้ผู้คนมีสิทธิ์และอิสระเสรีในการเลือกใช้เงินมากขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้สกุลเงินใดสกุลเงินหนึ่งอีกต่อไป และสำคัญกับ Borderless Payment หรือการชำระเงินระหว่างประเทศแน่นอน

โดยปกติการชำระเงินต่างประเทศต้องมีตัวกลางอย่างธนาคารโอนไปที่ปลายทาง ซึ่งต้องมีการตกลงกันเรื่องสกุลเงิน จึงทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจเสียเปรียบได้ อีกทั้งค่าธรรมเนียมก็ค่อนข้างสูงและใช้ระยะเวลาในการดำเนินการภายใน 3 วัน

แต่ถ้าเป็นการใช้ Stablecoin เราจะสามารถชำระเงินได้ภายในไม่กี่วินาทีได้ตลอด 24/7 ไม่ต้องกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเหมาะกับประเทศที่มีการชำระเงินที่จำกัดมาก ๆ อีกทั้งค่าธรรมเนียมยังถูกแทบจะเหมือนโอนฟรี จุดเด่นตรงนี้เองที่ทำให้ Stablecoin เข้ามามีบทบาทกับ Borderless Payment ซึ่งในขณะนี้ก็มีการพัฒนาเพื่อรองรับการทำธุรกรรมของ Stablecoin ในระดับ B2B แล้วด้วย

Summary

 

แม้ Stablecoin จะมีโอกาสได้รับความนิยม แต่คงต้องมาลุ้นกันว่าจะสามารถเอาชนะการชำระเงินรูปแบบเดิมได้หรือไม่ เพราะตอนนี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องกฎหมายและการใช้งาน ถ้าหากมีการสร้าง Stablecoin เพิ่มขึ้น กฎเกณฑ์ก็ต้องมากขึ้น และการที่จะถูกยอมรับโดยไม่มีรัฐมาเกี่ยวข้องก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย อีกอย่างถ้าในอนาคตตลาดคริปโตเคอร์เรนซีนั้นไม่เวิร์ก การไปสู่ Mass Adoption ของStablecoin ที่ต้องรองรับด้วยคริปโตฯ ก็เป็นไปได้ยาก

อ้างอิง:

KATALYST Talk EP.2: (เกือบจะ) Fail แล้วไง

Posted on by admin_beacon_2024

เมื่อคืนวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาทาง KATALYST ได้จัดงาน KATALYST Talk EP.2 โดยเชิญคุณภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ (แมกซ์) นายกสมาคม Thai Tech Startup Association (TTSA) และ CEO Eventpop พร้อมกับแขกรับเชิญพิเศษคุณธนพันธ์ วงศ์ชินศรี (ต้น) ผู้ก่อตั้งร้าน Penguin Eat Shabu มาพูดคุยกันในหัวข้อ “(เกือบจะ) fail แล้วไง”

 

ผลกระทบของธุรกิจจากวิกฤต Covid-19

คุณแมกซ์ได้แชร์ผลกระทบของ Eventpop ที่ได้รับจากวิกฤต COVID-19 โดยเดิมทีธุรกิจของ Eventpop คือ การจัดอีเวนต์ออฟไลน์ โดยมีระบบขายและเว็บไซต์คอยช่วยให้ผู้จัดอีเวนต์ให้ทำงานสะดวกขึ้น แต่เมื่อเกิดวิกฤต COVID-19 ส่งผลให้ในช่วงดังกล่าว งานอีเวนต์นั้นถูกยกเลิกหมด ส่งผลให้ทาง Eventpop ขาดรายได้หลักกว่า 95%

ซึ่งคุณต้น Penguin Eat Shabu ก็ประสบปัญหาด้านธุรกิจไม่ต่างกัน เพราะรายได้หลักที่มี คือการขายอาหาร และด้วยประเภทของอาหารอย่างชาบูที่ส่วนใหญ่จะเน้นทานที่ร้าน แต่เมื่อขายอาหารที่ร้านไม่ได้ ทำให้คุณต้นก็ต้องหาวิธีการปรับตัวเช่นเดียวกัน และถึงแม้ว่าจะลองมาขายแบบ Food Delivery แต่ก็ยังประสบปัญหาด้านการจัดการระบบการขาย ซึ่งเกิดเป็นกระแสที่ไม่ค่อยดีนักในโลกออนไลน์

 

มองมุมต่าง หาโอกาส และการปรับตัว คือการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ

จากกระแสเรื่องระบบการขายของ Penguin Eat Shabu ทำให้คุณแมกซ์มองเห็นโอกาสในการสร้างรายได้ ผ่านการยื่นมือเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาระบบการขายให้กับ Penguin Eat Shabu ด้วยการนำระบบการขายที่ตัวเองมีผนวกกับสินค้าของคุณต้น จะสามารถนำพาธุรกิจของทั้งสองคนรอดพ้นวิกฤตในครั้งนี้ได้

 

Eventpop กับโอกาสที่มาจากการปรับตัว

การปรับตัวของ Eventpop ไม่ใช่แค่เพียงการแก้ไขปัญหา แต่เป็นการสร้างโอกาสไปในตัว หลังจากการปรับปรุงระบบหลังบ้านให้รองรับธุรกิจ Food Delivery ส่งผลให้คุณแมกซ์เห็นโอกาสสร้างรายได้ผ่านการร่วมมือกับอุตสาหกรรมอื่นๆมากยิ่งขึ้น โดยนำจุดแข็งด้าน Data มาปรับใช้ให้เหมาะกับแต่ละอุตสาหกรรม

ยกตัวอย่างเช่น การร่วมมือกับทาง Singha Corporation ในการทำระบบหลังบ้านเกี่ยวกับการจัดส่งน้ำดื่ม หรือ การทำงานร่วมกับ GMM Grammy เพื่อจัดทำ Data ด้านความปลอดภัยให้กับคอนเสิร์ตอย่าง เชียงใหม่เฟส และบิ๊กเมาท์เทนมิวสิกเฟสติวัล นอกจากนี้ Eventpop ยังร่วมมือกับ SME ในการทำ Digital Transform ให้กับบริษัท ไปจนถึงการทำระบบ Payment ให้กับบริษัทด้าน E-Commerce เป็นต้น

โดยข้อดีในการปรับตัวครั้งนี้ นอกเหนือจากเป็นการสร้างรายได้กลับเข้ามาสู่องค์กรแล้ว ยังถือเป็นการสร้างการรับรู้ (Awareness) ให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการขยายฐานลูกค้าของ Eventpop ให้กว้างมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำกัดเฉพาะแค่งานอีเวนต์เท่านั้น

 

สรุปข้อคิดที่ได้จาก KATALYST Talk EP.2

 

1. การตลาดที่ดี คือ การตลาดที่ไม่มีข้อแม้

ข้อคิดนี้มาจากวิธีการทำการตลาดของ Penguin Eat Shabu ที่ทำการตลาดให้กับแบรนด์ด้วยความเข้าใจ Insight ของลูกค้าผ่านการรับฟังปัญหาและพฤติกรรมอย่างแท้จริง จนเกิดเป็นแคมเปญแถมหม้อ, แถม Tinder หรือแม้แต่การทำแคมเปญชาบูหน้าเด้งร่วมกับคลินิก เป็นต้น

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการทำการตลาดในภาวะวิกฤต ซึ่งคุณต้นเลือกจะทำการตลาดที่แบรนด์ใหญ่ลงมาเล่นด้วยไม่ได้ ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดของ Penguin Eat Shabu ที่พลิกแพลงได้ตลอด ไม่จำกัดรูปแบบ ทำให้แคมเปญที่ปล่อยออกมานั้นประสบความสำเร็จ

 

2. ยึดกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก และถ่ายทอด Value ของธุรกิจผ่านมุมต่าง ๆ

เช่นเดียวกับข้อที่ 1 ในภาวะวิกฤตแบบนี้คุณต้นเลือกให้ความสำคัญกับ Experience ลูกค้ามากกว่า โดยเปลี่ยน Mindset จากร้านอาหารให้เป็นโรงงานผลิตอาหารที่มี Marketplace เป็นของตัวเอง จากนั้นจึงสร้างแคมเปญในการยึดจากกลุ่มเป้าหมายหลัก (Core Audience) แต่เพิ่มข้อเสนอที่ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ของลูกค้า (Offer Solution) เพื่อสร้างประสบการณ์การทานชาบูแบบใหม่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของลูกค้า

 

3. การเปิดรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ช่วยสร้างโอกาสในภาวะวิกฤต

 

สุดท้ายนี้เป็นข้อคิดที่ทางเราตกผลึกจากคุณแมกซ์ Eventpop โดยคุณแมกซ์เลือกที่จะไม่ยึดติดกับอุตสาหกรรมเดิมๆ แต่พยายามนำจุดแข็งของธุรกิจไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาให้กับธุรกิจอื่น ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวช่วยสร้างโอกาสให้ Eventpop ได้พบฐานลูกค้าใหม่ๆ นำพาให้ธุรกิจรอดพ้นได้ในสภาวะวิกฤตนี้