Category: KATALYST

KBTG เดินหน้าสู่ระดับเอเชีย จัดตั้ง Development Hub เพื่อก้าวสู่เป้าหมาย “Think Of Thailand Think Of KBTG”

Posted on by admin_beacon_2024

หลังจากพัฒนาธุรกิจด้วยนวัตกรรม ล่าสุด KBTG ได้เปิดตัว “สามย่าน วัลเลย์” ออฟฟิศแห่งใหม่และพื้นที่จัดแสดงนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อเป็น Co-Innovation Space ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคารกสิกรไทย รวมถึงแสดงกรอบวัฒนธรรมองค์กร One KBTG ในการมุ่งหน้าสู่ผู้นำบริษัทเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง ด้วยเป้าหมาย “Think of Thailand Think of KBTG”

ภายในงานยังอัปเดตเทคโนโลยีอีกมาก ทั้งการนำระบบ Face Recognition และ Face Pay มาใช้ในอาคาร รวมถึง 3 Fintech ใหม่ล่าสุดจาก KBTG ได้แก่ ขุนทอง แพลตฟอร์มเรียกเก็บเงิน, MAKE by KBank แอปพลิเคชันผู้ช่วยด้านการเงินรูปแบบใหม่เพื่อคนรุ่นใหม่ และ Eatable แพลตฟอร์มช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารแบบครบวงจร โดยทั้ง 3 Fintech เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด Contactless Technology ก้าวสู่สังคมแบบ New Normal ด้วยเทคโนโลยีไร้การสัมผัส

สำหรับ แอปพลิเคชันขุนทองมีลูกค้าดาวน์โหลดแล้ว 500,000 ราย แอป Make ดาวน์โหลดแล้ว 20,000 ราย Eatable 10,000 ราย และมีพันธมิตรใช้ Contactless Technology 20 ราย

ล่าสุด KBTG ได้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินและการลงทุนร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สร้างแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเปิดตลาดทุนรูปแบบใหม่ในการส่งเสริมการลงทุนและระดมทุนในรูปแบบดิจิทัล

โดย นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) หรือคุณกระทิง ประกาศนำทัพปักธง พา KBTG ก้าวสู่ผู้นำด้านธนาคารในกลุ่มประเทศ AEC ภายใต้แนวคิด One KBTG ปฏิรูปวัฒนธรรมและกระบวนการทำงานขององค์กร เสริมสร้างความ “Productive” ให้แก่พนักงาน เพื่อตอบสนองต่อกระแสที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของตลาด และสร้างนวัตกรรมทางการเงินเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภค รวมถึงการผลักดัน KBTG ให้ก้าวสู่ Think of Thailand ในการมุ่งหน้าเป็นผู้นำบริษัทเทคโนโลยีของไทยให้ทัดเทียมระดับเอเชีย

KBTG ตอกย้ำความแข็งแกร่งในการก้าวสู่ระดับ AEC ด้วยความสำเร็จจากการบริการ QR KBank ใน สปป.ลาว และได้ขยายบริการจากเวียงจันทร์สู่สะหวันนะเขต ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการแล้ว 70,000 ราย และภายในปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้บริการกว่า 200,000 ราย สำหรับเมียนมาร์ได้ร่วมมือกับเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเมนท์ หรือเอแบงก์ ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน A+ ด้วยเทคโนโลยีเดียวกับ K+ ซึ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จเช่นเดียวกันกับในประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าจัดตั้ง Development Hub ใน 3 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม และจีน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้กับธนาคารกสิกรไทยที่มุ่งสู่ดิจิทัลแบงกิ้งมากขึ้น พร้อมทั้งอ้าแขนรับตลาดแรงงานดิจิทัล ตั้งเป้าหมายมีบุคคลากร 1,900 คน ภายในปี 2568 เพื่อนำความรู้ความสามารถมาพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินออกสู่ตลาด

ส่วนในประเทศจีน ล่าสุดกับการเปิดตัว K-TECH ที่เมืองเชินเจิ้น ประเทศจีน ด้วยทุนจดทะเบียน 300 ล้านหยวน มุ่งหน้าพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินสำหรับธนาคารกสิกรไทยในประเทศจีนและประเทศอื่น รวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจ โดยมีเป้าหมายขยายตลาดสู่การปล่อยสินเชื่อบุคคลรายย่อย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่และยังมีช่องว่างทางการตลาดอีกมาก ในลักษณะที่เป็น Digital Lending

EdTech คืออะไร? ตัวอย่าง EdTech Startup ในไทยที่น่าจับตามอง

Posted on by admin_beacon_2024

ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อนำมาผนวกเข้ากับระบบการศึกษา จึงพัฒนากลายเป็นสื่อการเรียนรู้สมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และสามารถสนับสนุนผู้เรียนได้มากกว่า หรือเรียกสั้น ๆ ว่า EdTech

นวัตกรรมเพื่อช่วยการศึกษาของ EdTech ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ ผู้เรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น นำไปสู่การต่อยอดทั้งในระดับองค์กรในการพัฒนาทักษะใหม่แก่พนักงาน และในระดับสถาบันการศึกษาที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องผ่านวิธีการใหม่ ๆ

จึงเป็นอีกหนึ่ง Tech Startup ที่บรรดานักลงทุนต่างให้ความสนใจ

มาทำความรู้จักกับ EdTech โดยละเอียด พร้อมตัวอย่างของ EdTech Startup ในประเทศไทย

 

EdTech เทคโนโลยีด้านการศึกษา

 

EdTech (Education Technology) คือ เทคโนโลยีด้านการศึกษา ที่สร้างความแตกต่างจากการเรียนรู้ในแบบเดิม ๆ ให้เกิดรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่หมาะสมกับผู้เรียนทุกช่วงวัย โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกและง่ายต่อการใช้งาน โดยมี resource ที่เหมาะสม

 

EdTech กับความสำคัญของการศึกษาระดับเยาวชน

แม้ว่าการเรียนในห้องเรียนแบบปัจจุบันจะยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเยาวชน แต่การเข้ามาของ EdTech จะเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยตอบโจทย์โซลูชั่นการเรียนรู้ในการพัฒนารูปแบบใหม่ ๆ ช่วยเพิ่มคุณภาพของเนื้อหา มีเทคโนโลยีสนับสนุนการเรียนการสอน และสามารถวัดผลสัมฤทธิ์ที่ทำให้เห็นผลลัพท์ของผู้เรียนชัดเจนยิ่งขึ้น

เยาวชนต้องให้ความสำคัญและใส่ใจด้านการเรียนรู้ แต่ด้วยความแตกต่างของพื้นฐานเด็กแต่ละคน ประกอบกับพฤติกรรมของเยาวชนยุคใหม่ที่เรียนค่อนข้างหนัก อาจทำให้เกิดปัญหาเหนื่อยล้าในการเรียนได้ ซึ่ง EdTech Startup หลาย ๆ รายก็ได้สร้าง Solution ออกมาเพื่อแก้ไขกับปัญหาเหล่านี้

ตัวอย่างเช่น Kahoot! EdTech Startup ในรูปแบบ Game-Based Learning ที่เปลี่ยนแปลงโลกการเรียนรู้ โดยสอดแทรกเนื้อหาบทเรียนลงไปในรูปแบบเกม ซึ่งผู้เรียนจะต้องไขปริศนาโดยใช้เนื้อหาบทเรียนไปด้วยขณะเล่น ให้ผู้เรียนได้ฝึกการใช้ความรู้ด้วยตัวเอง

การใช้เกมเป็นสื่อในการเรียนรู้ เป็นการยกระดับการเรียนการสอนที่จะทำให้ผู้เล่นรู้สึกสนุกและได้ความรู้ ทั้งยังเป็นการปลูกฝัง Growth Mindset ให้เยาวชนมีความใฝ่รู้ใฝ่เรียนในอนาคตอีกด้วย

EdTech กับการศึกษาของผู้เรียนวัยทำงาน

นอกจากเพิ่มประสิทธิภาพด้านการศึกษาให้กับเยาวชนแล้ว EdTech ยังส่งผลดีต่อการเรียนรู้ของช่วงวัยอื่นอีกด้วย เช่น กลุ่มคนวัยทำงาน ที่ต้องการจะพัฒนาทักษะและความสามารถของตัวเอง ซึ่งปัจจุบันก็มี EdTech Startup หลายรายที่เป็นแหล่งความรู้ใหม่ ๆ

ขอยกตัวอย่าง Coursera, edX และ Udemy ที่เป็นแหล่งรวบรวมหลักสูตรออนไลน์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกเอาไว้มากมาย เช่น Oxford หรือ Cambridge โดยเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าเรียนจากที่ไหนก็ได้ทั่วทุกมุมโลก

นอกจากนี้ยังมีหลายองค์กรที่ได้นำ EdTech มาประยุกต์เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภายในองค์กรอีกเป็นจำนวนมาก

 

ความสนใจของนักลงทุนที่มีต่อ EdTech

 

ในระยะแรกที่ EdTech อยู่ในช่วงเริ่มต้น มีนักลงทุนจำนวนไม่มากเท่านั้นที่ให้ความสนใจ แต่จากผลกระทบของ COVID-19 ทำให้ EdTech กลายมาเป็นอีกหนึ่งธุรกิจ Tech Startup ที่มาแรงมาก ๆ เลยทีเดียว

วิกฤตนี้ทำให้เกิดการ Lockdown คนทั่วโลกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ผู้คนไม่สามารถออกจากบ้านได้ และเยาวชนจำนวนมากต้องเรียนรู้ผ่าน online platform วิกฤตดังกล่าวจึงเป็นตัวเร่งให้เกิดการปรับตัวเรียนรู้ ซึ่ง EdTech ตอบโจทย์ความท้าทายในยามวิกฤตในการช่วยเติมเต็มโอกาสทางการศึกษาได้เป็นอย่างดี

การผนวกเข้ากับ digital platform ของ EdTech ที่สามารถเรียนรู้จากที่ไหนก็ได้ มีระบบ AI ที่คอยประมวลรูปแบบการศึกษาให้เหมาะสมกับผู้เรียน ทั้งยังสามารถวัดผลลัพท์ที่ออกมาได้อย่างชัดเจน ตอบโจทย์ทั้งตัวผู้เรียนและผู้สอน

เมื่อได้สัมผัสกับประสบการณ์ในการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้ ทำให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของ EdTech มากยิ่งขึ้น พร้อมที่จะปรับตัวเรียนรู้ และเห็นความสำคัญว่าจะเป็นประโยชน์กับระบบการศึกษาทั่วโลกในการพัฒนารูปแบบการศึกษาได้อย่างก้าวกระโดดต่อไปในอนาคต ไม่ใช่เพียงในช่วงวิกฤตนี้เท่านั้น

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้นักลงทุนหลายรายจับตามอง EdTech มากยิ่งขึ้น

หน่วยงานวิจัยด้านการศึกษา HolonIQ ได้ทำกราฟสถิติการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการศึกษา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 – 2019 จะเห็นได้ว่ามีการลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีล่าสุดก็มีจำนวนมากถึง 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ($7 Billion Dollar)

Image Source HolonIQ

นอกจากนี้ HolonIQ ยังคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ. 2030 จะมีเม็ดเงินเคลื่อนไหวในตลาดเกี่ยวกับการศึกษามากถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ($10 Trillion Dollar) เลยทีเดียว

Image Source HolonIQ

เทคโนโลยีด้านการศึกษานั้นแตกต่างจากการทำธุรกิจเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ไม่ได้เน้นไปที่พื้นฐานของกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยแก้ปัญหาของสังคม ซึ่งก็มีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่ยินดีให้การสนับสนุนนวัตกรรมที่ทำให้อนาคตของสังคมนั้นดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไอเดียของนวัตกรรมนั้นจะต้องน่าสนใจ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของความสามารถในการทำกำไร และแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดในปัจจุบันได้จริง จึงจะสามารถดึงดูดใจของนักลงทุนได้

 

EdTech Startup ที่น่าจับตามองในไทย

 

มาลองดู EdTech Startup ในประเทศไทย กับแนวทางการทำธุรกิจ และการปรับตัวของพวกเขา

OpenDurian

OpenDurian “เปิด-ดู-เรียน” เป็น EdTech Startup ในรูปแบบของ platform บทเรียนออนไลน์ที่คำนึงถึงความสำเร็จทางการศึกษาของผู้เรียน

โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเอาไว้มากมาย วิเคราะห์ความเหมาะสมสำหรับแผนการเรียนการสอนต่าง ๆ คัดกรองเนื้อหา และระยะเวลาเรียนที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้เรียน

ไอเดียของ OpenDurian เริ่มต้นมาจากการที่อยากจะเปลี่ยนแนวทางการศึกษาในประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น จึงจุดประกายไอเดียในการสร้าง platform เพื่อพัฒนาการศึกษาและมาช่วยให้เด็กนักเรียนสามารถเตรียมตัวสอบได้ดียิ่งขึ้น โดยเลือกทำในรูปแบบ online เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก เรียนกี่โมงก็ได้

ในระหว่างการพัฒนา ได้เผชิญกับอุปสรรคและปัญหามากมาย แต่ก็สามารถพลิกความล้มเหลว สร้างจุดแข็งของ platform ตัวเองด้วยแบบเรียนที่มีคุณภาพ ตรงจุดและตอบโจทย์กลุ่มนักเรียนที่เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย

จึงทำให้ OpenDurian ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจากการบอกต่อแบบปากต่อปากของกลุ่มนักเรียน ทำให้รายได้ของ OpenDurian นั้นสูงเกินความคาดหมายถึงหลักล้านบาทตั้งแต่ในปีแรก

insKru

insKru เป็น EdTech Startup คอมมูนิตี้ครู เพื่อแบ่งปันไอเดียด้านการเรียนการสอนของสำหรับวิชาชีพครู

โดยรวมไอเดียต่าง ๆ ที่ร่วมแชร์จากครูทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแผนการสอน สื่อการสอน ชีทแบบฝึกหัด เทคนิคการสอน ไอเดียสำหรับใช้ในห้องเรียน รวมไปถึงสอบถามปัญหาเพื่อขอความช่วยเหลือต่าง ๆ

จุดเริ่มต้นของ insKru เกิดจากการที่ผู้ก่อตั้งมองว่า ในประเทศไทยนั้นมีครูที่สอนเก่ง สอนสนุก พร้อมที่จะแบ่งปันไอเดียอยู่มากมาย แต่ไม่มีพื้นที่ให้แบ่งปัน และในขณะเดียวกันก็ยังมีครูอีกจำนวนมากที่อยากสอนให้ออกมาดี แต่ติดที่ไม่มีไอเดีย

ผู้ก่อตั้งจึงอยากให้มี platform ที่สามารถเชื่อมต่อครูเหล่านี้ให้เข้ามาร่วมแชร์ไอเดียและประสบการณ์ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาที่พบเจอ สร้างแรงบันดาลใจให้กันและกัน ด้วยแนวคิดที่ว่า “เรื่องราวดี ๆ ไม่จำกัดอยู่แค่ห้องเรียนใดห้องเรียนหนึ่ง แต่ส่งต่อไปสู่ห้องเรียนทั่วประเทศ”

insKru ไม่ได้เจาะกลุ่มเป้าหมายที่ผู้เรียน แต่เป็นครูผู้สอน จึงทำให้มีผู้ร่วมวิชาชีพเดียวกันให้ความสนใจกันอย่างมากมาย มีไอเดียที่ร่วมส่งต่อกันมากกว่า 1,000 ไอเดีย ถูกนำไปใช้กว่า 10,000 ห้องเรียนทั่วประเทศ กลายเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ ที่ช่วยผลักดันครูไทยให้มีศักยภาพในการสอนเด็กได้ดียิ่งขึ้น

 

Summary

 

EdTech ได้แสดงศักยภาพของตัวเองให้เห็นในช่วงปีที่ผ่านมา มีสัญญาณของการเติบโตในอนาคตให้เห็นอยู่มากมาย นอกจากความสำเร็จในแง่ธุรกิจแล้วยังช่วยเหลือสังคมในการพัฒนา เติมเต็มการเรียนรู้แบบ Lifelong Learning ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีให้เห็นในสังคม จึงมีผู้ที่พร้อมให้การสนับสนุนเป็นจำนวนมาก

หากคุณมองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาอนาคตของการเรียนรู้ อย่ารอช้ารีบลงมือทำ เพราะนวัตกรรมของคุณ อาจเป็นกำลังสำคัญที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอนในปัจจุบัน สร้างเยาวชน และบุคลากรที่มีคุณภาพ เพื่อคุณภาพสังคมที่ดียิ่งกว่าในอนาคต

5 วิธีคิดสำหรับผู้นำและเจ้าของกิจการในยุค Digital Disruption

Posted on by admin_beacon_2024

การทำธุรกิจในปัจจุบันต้องเผชิญกับ Digital Disruption ที่เข้ามาท้าทายในการปรับตัวหรือทรานส์ฟอร์มองค์กรในแต่ละอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันก็อาจจะถูกแทนที่ด้วยธุรกิจใหม่ได้

โมเดลธุรกิจในยุค Digital Disruption นั้นก้าวไปไวมาก และมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบกับทุกๆ กิจการ นี่จึงเป็นโจทย์ของ “ผู้นำธุรกิจ” ที่จะต้องหาทางออก หันมาวิเคราะห์สถานการณ์ ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เพื่อให้ธุรกิจของตัวเองอยู่รอดในการแข่งขันนี้

 

ความสำคัญของ Digital Disruption ต่อโลกธุรกิจ

 

Digital Disruption เป็นการเปลี่ยนแปลงธุรกิจโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) มาเป็นหลักในการพัฒนา เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในโลกธุรกิจให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก

ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีต่างๆ เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อย่าง Big Data, Blockchain, AI, Cloud Storage และอื่นๆ โดยนำมาพัฒนาร่วมกับวิสัยทัศน์ของแต่ละองค์กร รวมเข้ากับความต้องการของลูกค้าในเวลานั้น จึงจะเกิดเป็นการ Digital Disruption ได้

ปัจจุบันมีธุรกิจจำนวนมากที่ไม่สามารถปรับตัวตามเทคโนโลยีได้ทัน และถูกธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทนิตยสารต่างๆ ที่ทยอยปิดตัวลง จากการ Disrupt ของ Social Platform ที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอ่านบทความหรือติดตามข่าวสารบนช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น

Digital Disruption จึงเป็นเหมือนคลื่นลูกใหม่แห่งการทำธุรกิจในอนาคต และได้สร้างโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ขึ้นมามากมาย

มาดูตัวอย่างของโมเดลธุรกิจ Digital Disruption ที่ได้รับความนิยม เช่น

เปลี่ยนจากการซื้อขาดเป็นจ่ายรายเดือนแบบ Subscription

ปกติเรามักจะคุ้นชินกับการจ่ายเงินซื้อครั้งเดียวเพื่อถือสิทธิขาดในสินค้านั้นๆ แต่สินค้าบางประเภท เช่น ภาพยนตร์หรือเพลง ผู้บริโภคอาจรู้สึกว่ามีราคาค่อนข้างสูง ไม่คุ้มค่าหากซื้อมารับชมหรือฟังเพียงไม่กี่ครั้ง บางคนจึงไม่อยากจ่ายเงินซื้อสินค้าดังกล่าวถ้าหากมีทางเลือกที่ดีกว่า

จึงเกิดระบบ Subscription ที่ให้ผู้ใช้บริการเป็นสมาชิกแบบรายเดือนเพื่อใช้งานได้แบบไม่จำกัด เช่น Netflix, Apple Music, Spotify

แต่นอกจากสื่อบันเทิงเหล่านี้แล้ว ธุรกิจอุปโภคบริโภคก็เริ่มหันมาใช้โมเดลเหล่านี้ เช่น “Dollar Shave Club” ซึ่งทำ Business Model ที่แตกต่างและทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงสินค้าง่ายขึ้น ด้วยการให้บริการในรูปแบบ Subscription ในสหรัฐฯ โดยส่งสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์สำหรับโกนหนวด โฟมล้างหน้า และยาสีฟันทุกๆ 2 เดือนให้ลูกค้าที่ Subscribe ไว้

นอกจากนี้ ร้านอาหารชื่อดังอย่าง “KFC” ยังเริ่มใช้ระบบ Subscription ในบางประเทศ เพื่อรับไก่ทอดในแต่ละเดือนอีกด้วย

Freemium Model ที่จะเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานเมื่อจ่ายเงิน

Freemium เกิดจากการรวมกันระหว่าง Free และ Premium ที่ให้คุณใช้บริการได้ฟรีๆ แต่จะเริ่มเก็บเงินเมื่อคุณต้องการใช้ฟังก์ชันที่มากขึ้น อย่างเช่นบริการ Cloud Storage ต่างๆ อย่าง Google Drive, iCloud, Dropbox

จากตัวอย่างที่กล่าวไปข้างต้น แม้จะเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก แต่ก็มีบางธุรกิจที่ล้มหายตายจากไปเพราะ Digital Disruption นี้เช่นเดียวกัน ได้แก่ สินค้าประเภท Thumb Drive ที่มีการใช้งานลดลงอย่างเห็นได้ชัดหลังจากมีบริการ Cloud Storage หรือธุรกิจร้านเช่าวีดีโอที่ทยอยปิดตัวตั้งแต่การมาของ Netflix

อย่าปล่อยให้กิจการของคุณต้องเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เลือนหายไป มาดู 5 วิธีคิดสำหรับผู้นำองค์กร และเจ้าของกิจการที่จะช่วยให้คุณสามารถก้าวทันยุค Digital Disruption และชี้นำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

1. คำนึงถึงผู้บริโภคก่อนผลกำไร

 

พื้นฐานของการทำธุรกิจแน่นอนว่าต้องคำนึงถึงการสร้างรายได้เพื่อผลกำไร แต่การมองไปที่ผลกำไรเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถที่จะทำให้คุณอยู่รอดในยุค Digital Disruption นี้ได้

Disruptive Challenge (ผู้เข้าแข่งขันทางธุรกิจ) หลายธุรกิจเริ่มปรับมุมมองใหม่ หันมาให้ความสำคัญกับผู้บริโภคมากขึ้น โดยมองให้เห็นถึงความต้องการและสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

โดยเริ่มต้นจากการมองไปที่ความต้องการของลูกค้าหรือปัญหาของสังคม และเปลี่ยนมันเป็นโอกาสทางธุรกิจ โดยธุรกิจที่มองเห็นโอกาสเหล่านี้ก่อน จะสามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เกิดขึ้นได้รวดเร็วกว่า และได้เปรียบในการแข่งขันนี้มากกว่า

ยกตัวอย่างกรณีของแอปพลิเคชัน “U Drink I Drive” ที่มองเห็นปัญหาของผู้ที่ไปดื่มสังสรรค์ยามค่ำคืน แต่กังวลว่าหากขับรถกลับบ้านเองก็อาจเกิดอันตรายจากการเมาแล้วขับได้ จึงเกิดเป็นแอปพลิเคชันที่แก้ไข pain point ดังกล่าว โดยมีบริการพนักงานขับรถที่เชี่ยวชาญในการนำส่งทั้งรถและผู้ใช้บริการถึงที่หมายอย่างปลอดภัย

การเข้าใจในผู้บริโภคมากขึ้น ก็เท่ากับว่าความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น วิสัยทัศน์ของผู้นำที่มองเห็นโอกาสเหล่านี้ได้ก่อน จะเป็นสิ่งที่จะชี้นำองค์กรของคุณให้ก้าวหน้าเหนือคู่แข่งอยู่เสมอ

2. ขับเคลื่อนความคิดด้วยตรรกะและเหตุผล

 

คุณสมบัติพื้นฐานของผู้นำที่ดี จะต้องไม่ยึดสัญชาตญาณหรืออารมณ์เป็นหลัก แต่ใช้ตรรกะและเหตุผลในการวิเคราะห์ผลลัพธ์

บ่อยครั้งที่ผู้นำจะต้องทำหน้าที่ในการตัดสินใจ หรือแก้ไขปัญหาต่างๆ คิดวิเคราะห์และประเมินสิ่งนั้นๆ ด้วยเหตุผล เพื่อให้เห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา แยกแยะและระบุถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละรูปแบบได้

วิธีนี้จะทำให้สามารถเชื่อมโยงภาพใหญ่ขององค์กรเข้าไว้ด้วยกัน มองเห็นคำตอบที่ดีที่สุดในทุกสถานการณ์ และเลือกนำมาใช้เพื่อไปสู่จุดหมายได้อย่างถูกต้อง

 

3. มองออกไปข้างหน้า เปลี่ยนตัวเองให้ก้าวนำโลก

 

ต้องเข้าใจและตระหนักรู้ว่า การแข่งขันทางธุรกิจในยุค Digital Disruption นั้นมีความท้าทายใหม่ๆ ให้คุณได้เผชิญอยู่เสมอ ความสำเร็จเดิมที่คุณเคยสร้างไว้ อาจไม่ใช่ทางออกเดิมที่จะทำให้คุณอยู่รอด เพราะฉะนั้นผู้นำที่ดีจะต้องหาคำตอบใหม่ๆ มาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

การมีบทบาทของ Social Media นั้นทำให้โลกขยับไปเร็วขึ้น เทคโนโลยีใหม่ๆ ถูกอัพเดทวันต่อวัน ผู้นำที่ดีต้องกล้าที่จะยอมรับและปรับตัว มีวิสัยทัศน์ที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะเปลี่ยนกลยุทธ์เดิมๆ และเปิดใจที่จะต้องเริ่มเรียนรู้และทดลองใช้กลยุทธ์ใหม่เสมอ

ในการพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืนได้ท่ามกลางโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา วิสัยทัศน์ของผู้นำที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง มองเห็นทางออกในการปรับตัวที่ถูกต้อง จะสามารถนำพาองค์กรให้ประสบผลสำเร็จและโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

4. พนักงานทุกคนคือส่วนสำคัญ

 

พนักงานขององค์กรเป็นเหมือนอีกหนึ่งตัววัดผลประสิทธิภาพกิจการของคุณ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าองค์กรจำเป็นจะต้องรับพนักงานใหม่ที่เก่งเข้ามาเพิ่ม แต่เป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรมีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันให้มีทักษะการทำงานที่ดีขึ้น

หากต้องการสนับสนุนให้บุคลากรได้พัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน หรือก้าวทันเทคโนโลยี องค์กรจะต้องสร้างแรงกระตุ้น และแรงบันดาลใจให้กับพนักงาน เพื่อให้พวกเขาปรับเปลี่ยนแนวคิดและอยากพัฒนาตนเองให้พร้อมที่จะก้าวหน้าไปกับองค์กรในอนาคต

ไม่แน่ว่า ศักยภาพที่ถูกพัฒนาขึ้นของพนักงาน อาจจะกลายเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้องค์กรได้เห็นถึงมุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่าง และกลายเป็นส่วนสำคัญที่จะพัฒนาให้องค์กรเติบโตยิ่งขึ้นในอนาคตก็เป็นได้

 

5. ความล้มเหลวคือกุญแจสู่ความสำเร็จ

 

ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเลือกหนทางที่ถูกต้องได้ในครั้งแรก ความล้มเหลวหรือความผิดพลาดที่ได้เผชิญนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่เป็นบทเรียนสำคัญที่จะสอนบางสิ่งบางอย่างเสมอ เพื่อทำให้คุณเข้มแข็งและก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจกว่าเดิม

ในโลกของการทำธุรกิจนั้น นอกจากจะต้องรู้ “จุดแข็ง” ของตัวเองแล้ว การมองเห็น “จุดอ่อน” ก็เป็นกุญแจที่จะนำไปสู่ความสำเร็จขององค์กรได้เช่นกัน เพราะการที่องค์กรรู้ว่าจุดอ่อนของตัวเองคืออะไร จะทำให้มองเห็นหนทางในการปรับปรุงแก้ไขได้รวดเร็ว ตรงจุด มีประสิทธิภาพ และเสริมศักยภาพขององค์กรให้มากขึ้นอีกด้วย

 

Summary

 

Digital Disruption ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวหากรู้จักการปรับตัวและรับมือ โดยแนวคิดทั้ง 5 ที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น สามารถใช้เป็นแนวทางที่นำไปปรับใช้ภายในองค์กร เพื่อสร้างความได้เปรียบในการรับมือกับยุค Digital Disruption

10 เทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต 10 แนวทางการปรับตัว

Posted on by admin_beacon_2024

ปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่ๆ ถูกพัฒนาในอัตราเร่งที่สูงกว่าในอดีตอย่างเทียบกันไม่ติด ในอนาคตข้างหน้าอีกไม่กี่ปี อาจเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มากมายจนบางทีคุณเองก็อาจจะปรับตัวตามไม่ทัน

บทความนี้จะนำคุณมาพบกับ 10 เทคโนโลยีที่กำลังถูกพัฒนา และจะสร้างรากฐานใหม่ของโลกในอนาคต และเป็นที่สนใจของเหล่านักลงทุนทั่วโลก มาดูกันเลยว่าจะมีอะไรบ้าง

 

Bioplastic

 

ในแต่ละปีทั่วโลกจะใช้พลาสติกรวมกันกว่า 300 ล้านตัน แต่มีจำนวนไม่ถึง 15% ที่ถูกนำมารีไซเคิล ส่วนที่เหลือจะส่งไปกำจัดด้วยการเผา หรือฝังไว้ใต้หลุมขยะ ซึ่งใช้ระยะเวลาหลายร้อยปีกว่าจะย่อยสลายได้ โลกในอนาคตจึงอาจเต็มไปด้วยขยะพลาสติก

โดยทั่วโลกเองก็ตระหนักถึงผลกระทบนี้ จึงเริ่มมีการรณรงค์ให้ห้างร้านต่างๆ งดใช้ถุงพลาสติกในการจับจ่ายซื้อของ แต่ก็ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกต่อผู้บริโภค วัสดุที่สามารถเข้ามาแทนที่พลาสติกแต่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม จึงได้รับความสนใจมากขึ้น

Bioplastic หรือพลาสติกชีวภาพ เป็นเทคโนโลยีที่สังเคราะห์ส่วนประกอบจากพืชเพื่อสร้างเป็นวัสดุทดแทนพลาสติก แม้ความแข็งแรงคงทนจะไม่สามารถเทียบเท่ากับพลาสติกแบบดั้งเดิม แต่ก็สามารถย่อยสลายได้รวดเร็วกว่า และที่สำคัญไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

ผลกระทบที่พลาสติกสร้างให้กับโลกเริ่มถึงจุดวิกฤตแล้ว ในยุคสมัยที่ผู้คนให้ความสำคัญกับธรรมชาติมากขึ้น Bioplastic จะกลายเป็นส่วนสำคัญที่จะค่อยๆ ลดการสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เป็นเทคโนโลยีแห่งโลกในอนาคตอย่างแท้จริง

AI ที่เข้าใจมนุษย์มากขึ้น

 

การเข้ามาของสมาร์ทโฟน ทำให้โลกของเราได้ก้าวเข้าสู่ยุคของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) อย่างแท้จริง ด้วยฟังก์ชั่นต่างๆ อย่างระบบจดจำใบหน้า ลายนิ้วมือ ท่าทาง น้ำเสียงของมนุษย์ ซึ่งทำให้เกิดการเก็บข้อมูล Big Data อย่างมหาศาลจากฟังก์ชั่นเหล่านี้ ซึ่งเป็นส่วนขับเคลื่อนที่ทำให้ AI ถูกพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบัน AI ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนมีทักษะที่เรียกได้ว่าใกล้เคียงกับพฤติกรรมของมนุษย์ ทั้งความสามารถในการคิดเพื่อแก้โจทย์ปัญหาต่างๆ รวมถึงการพูดคุยโต้ตอบกับมนุษย์ได้

ในช่วง 3-4 ปีมานี้เทคโนโลยี AI มีพัฒนาการที่ค่อนข้างก้าวกระโดด มีการนำ AI มาใช้ในการวินิจฉัยโรค พัฒนาระบบรถยนต์ไร้คนขับ ระบบอัตโนมัติภายในโรงงานอุตสาหกรรม หรือ Social Robots หุ่นยนต์ที่ถูกพัฒนาเพื่อเป็นเสมือนเพื่อนของมนุษย์ ซึ่งสามารถโต้ตอบ และแสดงอารมณ์ได้คล้ายกับมนุษย์จริงๆ

แม้ว่า AI ในปัจจุบันจะมีความสามารถเพียงพอในหลายๆ ด้านแล้ว แต่การพัฒนา AI ก็ยังคงมีการแข่งขันสูง และยังคงพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง ไม่แน่ว่าในอนาคตโลกของเราอาจจะมี AI ระดับสูงที่เราสามารถพูดคุย ร่วมประสานงานได้เหมือนเป็นมนุษย์คนหนึ่งเลยก็ว่าได้

 

​Metalens

 

Metalens คือเทคโนโลยีของเลนส์รูปแบบใหม่ที่มีความบางเพียงระดับไมครอน เป็นนวัตกรรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อยกระดับคุณภาพของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เลนส์เป็นส่วนประกอบหลัก เช่น กล้องถ่ายรูป โทรศัพท์มือถือ เซ็นเซอร์ตรวจจับภาพ รวมถึงกล้องส่องทางการแพทย์

โดยปกติแล้วเลนส์ทั่วไปจะใช้การโค้งนูนเพื่อทำการรวมแสงให้เข้ามายังจุดเดียว จึงทำให้มีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ แต่ Metalens นั้นแม้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็สามารถรวมแสงทั้งหมดเอาไว้ได้ที่จุดเดียว นวัตกรรมนี้จึงอาจเป็นการปฏิวัติวงการกล้องต่างๆ เลยก็ว่าได้

ปัจจุบัน Metalens ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา แต่ว่าในอนาคตเลนส์ตัวนี้จะมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านการแพทย์ ยิ่งกล้องส่องที่ใช้ในการรักษามีขนาดเล็กลง บริเวณที่สามารถสำรวจและหาแนวทางรักษาร่างกายมนุษย์ก็มีมากขึ้นเท่านั้น

 

เนื้อสัตว์สังเคราะห์

 

องค์การสหประชาชาติได้การคาดการณ์ว่า ในปี 2050 จำนวนประชากรมนุษย์จะเพิ่มมากถึง 9.8 พันล้านคน แน่นอนว่าความต้องการด้านอาหารเองก็เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน ซึ่งเสี่ยงต่อเกิดวิกฤตการขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะ “เนื้อสัตว์” ที่คาดว่าจะมีความต้องการมากขึ้นกว่าปัจจุบันถึง 70%

เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตการขาดแคลนอาหาร เหล่านักวิทยาศาสตร์จึงให้ความสนใจกับการสร้าง “เนื้อสัตว์สังเคราะห์” (Cultured Meat) ขึ้นมา โดยสังเคราะห์ขึ้นมาจากการนำ Stem Cells ของสัตว์ต้นแบบมาเพาะเลี้ยงภายในถังปฏิกรชีวภาพ (Bioreactor) แล้วเติมสารอาหารที่จำเป็นเข้าไปเพื่อให้เนื้อเติบโต

เนื้อสังเคราะห์ถูกเปิดเผยครั้งแรกในปี 2013 โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Maastricht ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งขณะนั้นมีต้นทุนในการผลิตเนื้อ 1 กิโลกรัมอยู่ที่ 478,993 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 15 ล้านบาท

แม้จะได้รับความสนใจจากทั่วโลก แต่ด้วยต้นทุนที่สูงลิบจึงยังไม่สามารถนำออกมาวางจำหน่ายได้

จนกระทั่งไม่กี่ปีมานี้มีสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารมากมายเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เทคโนโลยีใหม่ๆ ในด้านการผลิตเนื้อสังเคราะห์ก็เกิดขึ้นมามากมาย ส่งผลให้การแข่งขันสูงขึ้น แต่ต้นทุนในการผลิตลดลง โดยล่าสุดมีต้นทุนเพียง 11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ 1 กิโลกรัมเท่านั้น

นี่จึงกลายเป็นเทคโนโลยีแห่งความหวังของโลกในอนาคตที่อาจช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้นทั่วโลก

Collaborative Represent

 

เทคโนโลยีเสมือนอย่าง Augmented Reality (AR) หรือ Virtual Reality (VR) เมื่อรวมกับความเร็วในการสื่อสารผ่านโครงข่าย 5G ที่จะเข้ามาในอนาคต ต่อไปการติดต่อประสานงานไม่ใช่เพียงแค่การได้ยินเสียงหรือเห็นภาพ แต่อาจรู้สึกเหมือนกำลังนั่งทำงานอยู่ภายในห้องเดียวกันก็เป็นได้

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบเซนเซอร์คุณภาพสูง เพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นในการสัมผัสกับอีกฝ่าย ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการประชุมในด้านการแพทย์ในอนาคต

ระบบการติดตามอาหารผ่าน Blockchain

 

เทคโนโลยี Blockchain จะเข้ามามีบทบาทกับอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้นในฐานะเครื่องมือติดตามการเคลื่อนไหวของอาหาร ตั้งแต่จากฟาร์มผลิตจนถึงโต๊ะอาหาร ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจสอบถึงความปลอดภัยจากวงจรการเคลื่อนไหวของอาหารจานนี้ได้

รวมถึงยังใช้ในการสืบค้นข้อมูลย้อนหลังหากอาหารที่ทานเข้าไปเกิดการปนเปื้อนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งเซนเซอร์ไว้ภายในบรรจุภัณฑ์สำหรับบอกเวลาที่อาหารจะเริ่มเน่าเสีย เพื่อจะได้ดำเนินการจัดการได้อย่างทันท่วงที ช่วยให้อาหารที่ใกล้เสียหายแล้วสามารถนำไปทำให้เกิดประโยชน์อื่นๆ ได้

 

เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ปลอดภัยมากขึ้น

 

เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เป็นแหล่งพลังงานชั้นดีที่สร้างพลังงานได้มากกว่าโรงงานไฟฟ้าหลายเท่าตัว อีกทั้งยังก่อให้เกิดมลภาวะค่อนข้างต่ำ แต่ก็มีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง เพราะถ้าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น กัมมันตภาพรังสีที่เล็ดลอดออกมาจะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศเป็นวงกว้าง

โดยเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รูปแบบใหม่นั้นถูกสร้างขึ้นให้มีโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุใกล้เคียงกับศูนย์ รวมถึงในกรณีฉุกเฉินก็สามารถระงับปริมาณของกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลออกมาได้

เตาปฏิกรณ์ประเภทใหม่นี้ถูกเรียกว่า Small Modular Reactors (SMR) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเตาปฏิกรณ์รูปแบบปกติ ในระดับที่สามารถขนย้ายผ่านรถบรรทุกได้ โดยมีการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยใหม่ในรูปแบบ Passive Safety ที่ใช้หลักฟิสิกซ์มาเพื่อควบคุมความปลอดภัยในกรณีฉุกเฉิน

ด้วยขนาดที่เล็ก และความปลอดภัยที่ถูกยกระดับขึ้น พื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนพลังงานก็จะสามารถเข้าถึงไฟฟ้า และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไปอีกได้

 

การยับยั้ง Intrinsically Disordered Proteins

 

Intrinsically disordered proteins (IDPs) คือโปรตีนชนิดพิเศษที่มีความสามารถในการเปลี่ยนรูปร่างเซลล์ภายในตัวของมันได้ ซึ่งการเปลี่ยนลักษณะของมันเป็นต้นกำเนิดของโรคร้ายแรงต่างๆ อย่างเช่น โรคมะเร็ง

แต่เนื่องจากโปรตีนชนิดนี้มีโครงสร้างที่ไม่ชัดเจน สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบเซลล์ได้ตลอดเวลา จึงไม่สามารถทำการรักษาแบบเฉพาะเจาะจงได้ ทำให้การรักษาโรคที่เกิดจากโปรตีนชนิดนี้นั้นเป็นไปได้ยากมาก

แต่ปัจจุบันได้ค้นพบวิธีที่จะป้องกันและยับยั้งไม่ให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบของโปรตีน IDPs ได้แล้ว จึงมีความเป็นไปได้ว่า โลกในอนาคตอาจไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งแล้วก็เป็นได้ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่จะปฏิวัติวงการแพทย์ไปตลอดกาล

ระบบการเก็บข้อมูลผ่าน DNA

 

นอกจากความสำเร็จในการยับยั้งโปรตีน IDPs เทคโนโลยีทางชีวภาพอื่นๆ เองก็ถูกพัฒนาขึ้นเช่นเดียวกัน อีกหนึ่งนวัตกรรมแห่งอนาคตนั้นก็คือ ระบบการเก็บข้อมูลผ่าน DNA

เพราะในปัจจุบันมนุษย์ได้สร้างข้อมูลต่างๆ เอาไว้ในปริมาณมหาศาล ซึ่งโลกในอนาคตข้างหน้าก็จะมีข้อมูลเข้ามาอีกมากมาย ซึ่ง Server ที่มีอยู่ของมนุษย์อาจไม่เพียงพอต่อการรองรับข้อมูลในปริมาณนี้

จึงมีการคิดค้นเทคโนโลยีการกักเก็บข้อมูลไว้ภายใน DNA ของสิ่งมีชีวิต โดยจากงานวิจัยแล้ว DNA ขนาดเล็กเท่าเข็มหมุดก็สามารถจัดเก็บข้อมูลได้มากถึง 125,000 GB เลยทีเดียว

โดย DNA ที่ใช้เก็บข้อมูลนั้นไม่ได้มาจากมนุษย์หรือสัตว์ชนิดใด แต่เป็น DNA ที่สังเคราะห์ขึ้นมาภายในห้องแล็บโดยเฉพาะ จึงไม่ถือว่าเป็นเทคโนโลยีชีวภาพที่ผิดศีลธรรม

นอกจากจะเป็นการกักเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและประหหยัดพื้นที่แล้ว ยังเป็นการลดปริมาณของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

 

แหล่งเก็บพลังงานสะอาด

 

การผลิตไฟฟ้าด้วยระบบพลังงานหมุนเวียนอย่าง แสงอาทิตย์ ลม หรือน้ำ ค่อนข้างมีความผันผวนเพราะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศซึ่งมนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ เทคโนโลยีที่สามารถกักเก็บพลังงานสำรองเอาไว้ใช้จ่ายไฟฟ้าในภายหลังได้จึงจำเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยเทคโนโลยีอย่าง Flow Batteries, Fuel Cells หรือ Gravity Storage จะทำให้สามารถกักเก็บพลังงานทดแทนเหล่านี้เอาไว้ในช่วงเวลาที่ระบบไม่สามารถผลิตได้

 

Summary

 

นี่เป็นเพียงบางส่วนของเทคโนโลยีที่คุณจะได้พบในอนาคตเท่านั้น อย่าลืมว่ามีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา Tech Startup จึงต้องสร้างความเข้าใจในเทคโนโลยีเหล่านี้ และสรรสร้างสิ่งใหม่ที่เหนือกว่า

ความเข้าใจในเทคโนโลยีเหล่านี้ จะเป็นกุญแจที่จะทำให้คุณก้าวไปสู่อนาคตได้เร็วกว่าใคร และประสบความสำเร็จได้ไวกว่าผู้อื่น

ทักษะแห่งอนาคตที่คุณควรรู้และควรปรับตัว

Posted on by admin_beacon_2024

ในยุคสมัยที่เรากำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (Fourth Industrial Revolution) ด้วยเทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่างปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์อัตโนมัติ หรือนาโนเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล โดยเฉพาะกับการทำงานซึ่งเทคโนโลยีสามารถทำหน้าที่ได้ดีเทียบเท่าหรือดียิ่งไปกว่ามนุษย์ มนุษย์จึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะของตนเองไปสู่ทักษะแห่งอนาคต ซึ่งเป็นทักษะที่ทำให้คุณโดดเด่นกว่าคนอื่นและเทคโนโลยียังไม่สามารถแทนที่ได้ โดยทักษะแห่งอนาคตที่คุณควรมีติดตัวนั้นประกอบไปด้วย

 

ทักษะที่หนึ่ง: ความคิดสร้างสรรค์

 

ทักษะแห่งอนาคตที่คุณควรมีเป็นสิ่งแรกคือความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งหมายถึงความสามารถในการคิดค้นประดิษฐ์หรือพลิกแพลงนวัตกรรมและวิธีการใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไปจากที่มีอยู่เดิม

เหตุที่ความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นสิ่งจำเป็น เพราะปัญหา อุปสรรคหรือความท้าทายที่คุณอาจจะต้องเจอในอนาคตมีแนวโน้มที่จะแตกต่างจากสิ่งที่เป็นมาในอดีตอย่างโดยสิ้นเชิง และเครื่องมือหรือวิธีการที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาให้กับคุณได้ ความคิดสร้างสรรค์จะกลายเป็นกุญแจสำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ ที่จะช่วยทำให้คุณประสบความสำเร็จในอนาคต

 

ทักษะที่สอง: ความฉลาดทางอารมณ์

 

ทักษะแห่งอนาคตอย่างที่สองที่มีความสำคัญคือความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ซึ่งหมายถึงความสามารถในการควบคุมและบริหารจัดการอารมณ์ของตนเอง รวมไปถึงความสามารถในการคาดเดาและเข้าใจอารมณ์ของผู้คนรอบข้าง

แม้ว่าในปัจจุบันที่เครื่องจักรกลและคอมพิวเตอร์จะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์มากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณยังคงต้องทำงานและติดต่อกับเพื่อนร่วมงานของคุณอยู่ และความฉลาดทางอารมณ์จะช่วยทำให้คุณเข้าใจและเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนร่วมงานมากขึ้น ซึ่งความเข้าใจที่เกิดขึ้นจะส่งเสริมให้คุณทำงานกับผู้อื่นได้ดีและเสริมสร้างกระบวนการทำงานเป็นทีมให้กับตัวคุณ

 

ทักษะที่สาม: การคิดวิเคราะห์

 

ทักษะแห่งอนาคตหมายเลขสามคือทักษะการคิดวิเคราะห์ ซึ่งหมายถึงการใช้ตรรกะและเหตุผลในการวิเคราะห์สมมติฐานต่างๆ โดยใช้ข้อมูลที่คุณมีอยู่เป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคของ Big Data ซึ่งมนุษย์สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างเป็นจำนวนมาก ทักษะการคิดวิเคราะห์จะทำให้คุณเข้าใจข้อมูล มองเห็นความสัมพันธ์ของข้อมูลและมองเห็นวิธีการแก้ปัญหาจากข้อมูลที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทักษะการคิดวิเคราะห์จะช่วยให้คุณคิดอย่างมีเหตุผลและเปิดกว้างต่อวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ทักษะที่สี่: ความกระหายที่จะเรียนรู้

 

ทักษะแห่งอนาคตทักษะที่สี่ที่คุณควรมีคือความกระหายที่จะเรียนรู้ (Active Learning) ซึ่งมาควบคู่กับความคิดที่ต้องการจะเติบโต (Growth Mindset) ซึ่งจะกระตุ้นให้คุณมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

จากรายงาน The Future of Jobs โดย World Economic Forum ได้คาดการณ์ว่าภายในปีคริสต์ศักราช 2022 ทักษะการทำงานที่เป็นที่ต้องการจะเปลี่ยนไปจากเดิมถึง 42% ทำให้การทำงานในอนาคตล้วนต้องการทักษะใหม่ๆ ในขณะเดียวกันทักษะที่คุณมีอยู่แล้วอาจมีการเปลี่ยนแปลงและอัพเดตอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นความกระหายที่จะเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆจะช่วยเพิ่มพูนทักษะของคุณและทำให้คุณก้าวหน้าในการทำงานมากยิ่งขึ้น

 

ทักษะที่ห้า: การตัดสินใจ

 

ทักษะแห่งอนาคตทักษะที่ห้าคือทักษะในการตัดสินใจ ที่แม้ว่าเครื่องจักรกลในปัจจุบันจะสามารถทำการตัดสินใจได้ด้วยตนเองจากการรับรู้ข้อมูลที่มีอยู่ แต่มนุษย์ยังคงมีความสำคัญในฐานะผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย (Final Decision Maker) เหตุผลที่คุณจำเป็นต้องมีความสามารถในการตัดสินใจ เพราะด้วยความสามารถของมนุษย์ที่สามารถมองถึงความสำคัญในภาพรวม (Broader Implication) และคำนึงถึงประเด็นที่เครื่องจักรไม่สามารถคิดแทนได้เช่นเหตุผลด้านศีลธรรม (Moral Decision) ความสามารถในการตัดสินใจนี้เองที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากเครื่องจักรกล

 

ทักษะที่หก: การสื่อสารระหว่างบุคคล

 

ทักษะแห่งอนาคตอย่างที่หกคือ ทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคล ซึ่งหมายถึง ทักษะในการการสื่อสารให้ชัดเจน ตรงประเด็น และเหมาะสม กับเพื่อนร่วมงานและบุคคลที่มีส่วนร่วมกับงานของคุณ การสื่อสารระหว่างบุคคลถือเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่การทำงานระยะไกล (Remote Working) จะกลายเป็นระเบียบวิธีการทำงานหลักแทนที่การทำงานแบบเดิมที่ทุกคนจำเป็นต้องมารวมกัน ซึ่งทำให้การติิดต่อประสานงานกับเพื่อนร่วมงานให้ทุกคนเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้งานของคุณเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทักษะที่เจ็ด: ความเป็นผู้นำ

 

ทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นประการที่เจ็ดคือทักษะความเป็นผู้นำ ซึ่งความเป็นผู้นำไม่ใช่แค่ทักษะของการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ แต่หมายถึงการเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจและทำให้คนในทีมใช้ศักยภาพที่ตนมีได้อย่างเต็มที่มากที่สุด ทักษะความเป็นผู้นำจะทำให้คุณบริหารจัดการงานในขอบเขตความรับผิดชอบของคุณไม่ว่าจะเป็นโปรเจคต่างๆ หรืองานที่คุณต้องทำร่วมกับผู้อื่นให้สามารถรุดหน้าต่อไปได้ รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมงานของคุณมีส่วนร่วมกับงานและใช้ความสามารถของพวกเขากับงานที่คุณดูแลอยู่ได้มากขึ้น

ทักษะที่แปด: การยอมรับในความหลากหลาย

 

ทักษะแห่งอนาคตประการที่แปดคือการยอมรับในความหลากหลาย ซึ่งหมายถึงการที่คุณเข้าใจในความแตกต่างและเข้าใจในรากฐานที่มาของความแตกต่างระหว่างคุณและเพื่อนร่วมงานของคุณ ซึ่งจะช่วยให้คุณทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างไร้ความขัดแย้งเพราะผลพวงจากโลกาภิวัฒน์ทำให้พรมแดนเลือนหายไป และคุณอาจต้องทำงานกับคนที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม การยอมรับในความหลากหลายจะทำให้คุณและเพื่อนร่วมงานอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และคุณสามารถดึงประโยชน์จากความแตกต่างที่มีอยู่มาใช้ในการทำงานให้ได้มากที่สุด

 

ทักษะที่เก้า: ทักษะทางเทคโนโลยี

 

ทักษะแห่งอนาคตที่คุณควรมีอย่างที่เก้าคือทักษะทางเทคโนโลยี ซึ่งไม่ใช่แค่ทักษะทางเทคโนโลยีทั่วไป แต่รวมไปถึงทักษะทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) บิ้ก ดาต้า (Big Data) หรือบล็อกเชน (Blockchain) ที่ต่างเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทักษะทางเทคโนโลยีหมายถึงการที่คุณเข้าใจหลักการทำงาน และรู้ถึงวิธีใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์กับตัวคุณเอง การที่คุณมีทักษะทางเทคโนโลยีนั้นหมายถึงโอกาสที่คุณจะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน รวมไปถึงโอกาสที่จะทำให้คุณสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบในเชิงบวกต่ออาชีพของคุณอีกด้วย

 

ทักษะที่สิบ: การเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง

 

ทักษะแห่งอนาคตทักษะสุดท้ายที่คุณควรมี และเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดที่จะนำพาคุณไปสู่การสร้างทักษะอื่นๆ ก็คือการเตรียบพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง ที่อาจเกิดขึ้นกับตัวคุณเองทั้งในปัจจุบันและอนาคต ในยุคที่ความเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงเสี้ยววินาที ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นทักษะ สถานที่ทำงาน หรือความคาดหวังต่างๆ ที่คุณมีต่ออนาคตของตัวคุณเอง การเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอจะทำให้คุณปรับตัวไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทั้งสถานการณ์ที่คาดการณ์ได้และสถานการณ์ที่คุณคาดไม่ถึง นอกจากนี้ การเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงจะทำให้คุณเปลี่ยนความคิดว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ใช่อุปสรรคที่ขัดขวางคุณ แต่เป็นความท้าทายใหม่ๆ ที่คุณสามารถก้าวข้ามผ่านมันไปได้ การเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดที่คุณสามารถทำได้เองคือการรู้ทันสถานการณ์ของขีวิตคุณอยู่ตลอดเวลาและวางแผนชีวิตของคุณให้ยืดหยุ่นมากขึ้น หรือหากเป็นไปได้ วิธีการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดคือการชิงเปลี่ยนแปลงตัวเองเสียก่อนที่ความเปลี่ยนแปลงจะมาถึง

 

สรุป

 

ทักษะแห่งอนาคตคือทักษะพื้นฐานที่จะทำให้คุณมีความโดดเด่นเหนือกว่าคนอื่นๆ และทำให้คุณเป็นผู้ที่มีทักษะพิเศษรอบด้านซึ่งไม่สามารถแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใดๆ ได้ นอกจากนี้ การที่คุณมีทักษะแห่งอนาคตยังทำให้คุณมีความพร้อมที่จะรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น และทักษะแห่งอนาคตยังเป็นบันไดให้คุณสามารถพัฒนาไปสู่ทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตได้อย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด

Baker McKenzie พันธมิตรด้านกฎหมายที่เข้าใจชาวสตาร์ทอัพ

Posted on by admin_beacon_2024

หากสตาร์ทอัพมีความพร้อมด้านกฎหมาย การเติบโตก็จะไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

เมื่อวงการสตาร์ทอัพกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง Baker McKenzie สำนักงานกฎหมายระดับโลก จึงก้าวเข้ามาเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญ ทั้งสำหรับชาวสตาร์ทอัพโดยตรงในการให้ความรู้ และคำแนะนำด้านกฎหมายเพื่อการพัฒนาอย่างถูกต้อง และให้คำปรึกษาฝั่ง Venture capital ในการลงทุนร่วมกับสตาร์ทอัพอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดเช่นกัน

ปัจจุบัน Baker McKenzie ร่วมจับมือกับโครงการ KATALYST ในการช่วยเหลือสตาร์ทอัพในด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการปูความรู้พื้นฐานลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา Data privacy และอื่น ๆ อีกมากมาย

ทาง Baker McKenzie จะมีแนวทางการช่วยเหลืออย่างไร คุณฉวีวรรณ เกียรติดุริยกุล ที่ปรึกษากฎหมาย และหุ้นส่วนของ Baker McKenzie จะมาแชร์ให้เราได้รู้กัน

BUILK สตาร์ทอัพรุ่นเก๋าผู้พลิกวงการธุรกิจก่อสร้างไทย

Posted on by admin_beacon_2024

สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้วงการก่อสร้างให้มีมากขึ้น ด้วยการเป็นศูนย์กลางที่รวมทุกอย่างในวงการก่อสร้างไว้ด้วยกัน

ตลอด 9 ปีที่ BUILK พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อธุรกิจ วงการก่อสร้างมาอย่างยาวนาน โดยมีจุดประสงค์ในการลดต้นทุนและสร้างกำไรที่มากขึ้นให้กับผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างไทย ปัจจุบัน BUILK กลายเป็นมาร์เก็ตเพลสที่ช่วยให้เจ้าของโครงการเจ้าของบ้านและผู้ประกอบการสามารถจัดหาวัสดุก่อสร้างหรือผู้รับเหมาได้อย่างสะดวกสบาย กำลังก้าวไปสู่เป้าหมายใหม่ นั่นก็คือการบุกตลาดต่างประเทศ

BUILK เติบโตอย่างแข็งแรงได้อย่างไร และการสนับสนุนของ KATALYST ช่วยเสริมกำลังได้มากน้อยแค่ไหน มาฟังแนวคิดดี ๆ จาก คุณโบ๊ท ไผท ผดุงถิ่น กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง BUILK One Group ได้ที่นี่

SHIPPOP เปลี่ยนการขนส่งให้แสนง่าย คู่ใจเหล่า E-Commerce

Posted on by admin_beacon_2024

ในโลกที่ธุรกิจ E-Commerce เติบโตขึ้นอย่างมาก บริการขนส่งสินค้าที่ดีและคุ้มค่า จึงเป็นเรื่องที่เจ้าของธุรกิจต่างให้ความสำคัญ

SHIPPOP หนึ่งในสตาร์ทอัพในโครงการ ของ KATALYST จึงเข้ามาเป็นผู้ช่วยเจ้าของธุรกิจ E-Commerce จัดการเรื่องการขนส่งสินค้าให้ง่ายยิ่งขึ้นด้วยระบบเปรียบเทียบราคา จองการขนส่ง และชำระเงินออนไลน์ แถมยังสามารถติดตามสถานะของพัสดุได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเปลี่ยนระบบการขนส่งสินค้าให้ สะดวกสบายตั้งแต่แพ็คของเข้ากล่องจนส่งถึงมือลูกค้าเลยทีเดียว

SHIPPOP มีแนวคิดอย่างไร และการสนับสนุนของ KATALYST มีส่วนช่วยให้ธุรกิจเติบโตแค่ไหน คุณโมชิ สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการบริหาร แห่ง SHIPPOP จะมาแชร์ให้ฟังกันที่นี่

เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Disney และ Apple ท้าชน Netflix อะไรจะเกิดขึ้น

Posted on by admin_beacon_2024

การที่ Disney รวมถึงผู้ให้บริการสตรีมมิ่งรายใหม่อย่าง Apple เข้ามาท้าชิงกับ Netflix ที่เป็นเจ้าตลาดแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเจ้าตลาดในเวลานี้ แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่เปิดกว้างของการ ให้บริการแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่ผู้ชม พร้อมที่จะเลือกสิ่งที่เหมาะกับการใช้งานมากที่สุด

ช่วงเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ จะกลายเป็นศักราชใหม่ของบริการแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอย่างแท้จริง เมื่อ Netflix ต้องเจอคู่ท้าชิงรายใหญ่อย่าง Disney+ และ Apple TV+ ที่จะทยอยเปิดให้บริการ ด้วยจุดเด่น สำคัญคือราคาที่ต่ำกว่า

สิ่งที่ Disney+ มี นั้นคือการเป็นเจ้าของ – ผู้ผลิต ที่มีคอนเทนต์คุณภาพจำนวนมากอยู่ในมือ แล้วใครเล่าจะปล่อยคอนเทนต์เหล่านี้ให้ไปช่วยแพลตฟอร์มอื่นสร้างรายได้ไปทำไม จึงเกิดความคิดริเริ่มให้ บริการแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของตัวเองขึ้นมา

จุดขายสำคัญของ Disney+ คือการที่มีภาพยนตร์ และซีรีส์ ที่เคยผลิตขึ้นมา รวมถึงคอนเทนต์การ์ตูนสำหรับเด็กจำนวนมาก ช่วยเปิดฐานลูกค้าของ Disney+ ให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มของครอบครัวมากขึ้น เพราะทั้งผู้ใหญ่ ก็สามารถเข้าถึงภาพยนตร์ และซีรีส์ที่ชื่นชอบ ขณะเดียวกันก็ยังสามารถเปิดการ์ตูนให้เด็กได้รับชม

ในขณะที่ Apple TV+ ก็เห็นเทรนด์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน และยังมีประสบการณ์จากการให้บริการดิจิทัล เซอร์วิสอย่าง iTunes และ Apple Music มาก่อนหน้า ทำให้เห็นช่องว่างที่สามารถเข้าไปให้บริการได้ ด้วยการดึงผู้ผลิตคอนเทนต์ เข้ามาสร้าง Original Content ที่ไม่สามารถหาชมที่ไหนได้บนแพลตฟอร์ม Apple TV+

จุดแข็งของ Apple TV+ ในช่วงแรกจึงไม่ใช่เรื่องของคอนเทนต์ที่แข็งแรง เพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ว่าที่ลืม ไม่ได้เลยคือ Apple มีอีโคซิสเตมส์ที่พร้อมซัพพอร์ตบริการ เพราะสิ่งแรกที่ Apple ทำในงานเปิดตัวอย่าง เป็นทางการคือ การประกาศให้สิทธิลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์ของ Apple หลังจากวันที่ 10 กันยายน เข้าใช้บริการ APPLE TV+ ได้ฟรี 1 ปี

จะเห็นได้ว่าทั้ง Disney+ และ Apple TV+ จะมีจุดแข็งที่แตกต่างกันไป และเชื่อได้ว่าทั้ง 2 จุดแข็งนี้ จะกลายมาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้ชมมีโอกาสเลือกเข้าไปใช้บริการของทั้ง 2 รายไม่ว่าจะเป็นในแง่ ของเข้าไปแทนที่ Netflix หรือการสมัครเพื่อใช้บริการเพิ่มเติม

เพราะเมื่อ Netflix ไม่มีคอนเทนต์ Disney ถ้าผู้ชมต้องการแล้วราคาไม่สูงสามารถเข้าถึงได้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะสมัครเข้าไปลองใช้งานดู เช่นเดียวกับ Apple TV+ ที่เรียกได้ว่าให้บริการฟรี 1 ปี สำหรับผู้ที่ซื้อสินค้าใหม่ของ Apple ก็ไม่มีเหตุผลอีกเช่นกันที่จะทำให้ไม่เปิดเข้าไปใช้งาน

ดังนั้น ในมุมของสตาร์ทอัพสายคอนเทนต์ สิ่งที่ต้องทำไม่ใช่แค่การพัฒนาระบบ หรือแพลตฟอร์ม ขึ้นมาเพื่อให้บริการแต่เพียงอย่างเดียว เพราะต้องมองถึงแกนหลักสำคัญคือคอนเทนต์ และอีโคซิสเตมส์ที่จะเข้ามาช่วยเกื้อหนุนให้ผู้บริโภคนำไปใช้งานด้วย โดยเฉพาะเรื่องของ การจ่ายเงินสมัครใช้บริการที่ยิ่งสะดวกมากเท่าไหร่ โอกาสที่ลูกค้าจะใช้งานก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

แน่นอนว่าสตาร์ทอัพทุกรายไม่สามารถเชี่ยวชาญในทุกๆ เรื่องได้ ทำให้แนวทางที่น่าสนใจคือการเข้า ไปเป็นพันธมิตรกับผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เพื่อร่วมเติบโตไปด้วยกัน

 

ทำความรู้จัก KATALYST โครงการเร่งศักยภาพให้ Startup ไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน

Posted on by admin_beacon_2024

ปี 2019 นี้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วย Digital Economy (DE) ยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง เคียงข้างไปกับการอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วของ Startup ไทย นักลงทุนจากทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจและมองหา Startup รายใหม่ๆ เป็นผู้เล่นในเกมธุรกิจ แต่จะทำอย่างไรให้ Startup ไทยแข็งแกร่งและเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ

จุดนี้ คุณสุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ผู้ดูแลโครงการ KATALYST จะมาฉายภาพให้ชัดเจนขึ้นว่า KATALYST คืออะไร และจะสามารถเร่งศักยภาพให้ Startup ไทย เติบโตได้อย่างยั่งยืน ตอบรับโอกาสที่กำลังเปิดกว้างนี้ได้อย่างไร ไปติดตามกัน

Q : KATALYST มีความเป็นมาอย่างไร และคำว่า “เพื่อนสนิทของชาว Startup” หมายถึงอะไร
คุณสุปรีชา : จริงๆ เริ่มต้นอย่างนี้ก่อน คือในกระบวนการเกิดของ Startup มีจุดสำคัญที่สุด 2 จุด จุดแรกคือ Idea และ Passion ว่าจะทำอะไร อีกส่วนคือระหว่างทางในการทำงาน เขาอาจต้องเจอโจทย์ธุรกิจต่างๆ แต่หลายรายยังขาดประสบการณ์ ยังไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาบางอย่างอย่างไร KATALYST ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารกสิกรไทย จำกัด จึงมีการกำหนดจุดยืนในฐานะ “เพื่อน” ที่สามารถช่วยเหลือ Startup และเร่งศักยภาพ ให้ Startup ไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ด้วยปัจจัย 2 ประการ

หนึ่งคือ เรามีธุรกิจหลายด้านที่สามารถมาต่อยอดให้กับ Startup ได้ แน่นอนว่างานของ Startup จะมีส่วนที่เกี่ยวกับ Payment (ระบบชำระเงิน) หรือธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ซึ่งกสิกรเองก็เป็น Digital Banking อยู่แล้ว เราจึงเน้นการให้คำแนะนำ และการนำบริการต่างๆ ของเรามาเชื่อมโยงเพื่อสร้างประโยชน์แก่เขา

สำคัญกว่านั้นคือส่วนที่สอง คือคำว่า “เพื่อน” ให้มองว่า KATALYST เป็นเพื่อนรุ่นพี่แล้วกัน เราเหมือนพี่เลี้ยงที่จะเข้ามาแนะนำในหลายเรื่อง เช่น ปัญหาที่เราเคยเจอ เราแก้ปัญหาอย่างไร Startup ที่เริ่มใหม่เปรียบเหมือนคนตัวเล็กๆ จะเดินไปคุยกับธุรกิจรายใหญ่ก็ไม่ง่ายนัก อาจพบโจทย์ยากๆ ที่เขาไม่คุ้นเคย KATALYST ก็จะเป็นคนพาเขาไปแนะนำว่าการติดต่อธุรกิจรายใหญ่มีจุดไหนที่ควรระวังบ้าง เตรียมความพร้อมให้เขาเจอกับสิ่งต่างๆ ได้อย่างไร เป็นเพื่อนที่พร้อมที่จะค้นหาศักยภาพไปด้วยกัน

Q : จุดแตกต่างของ KATALYST กับโครงการ Accelerator อื่นๆ คืออะไร
คุณสุปรีชา : ถ้าพูดถึงศักยภาพ จริงๆ หลายบริษัทไม่ใช่เฉพาะธนาคารก็มีโครงการประเภท Accelerator หรือโครงการบ่มเพาะให้ Startup ซึ่งทุกคนก็มีเจตนาที่ดี โดยส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น Batch อบรมในช่วงระยะเวลาหนึ่ง มาช่วยกันค้นหาสิ่งที่จำเป็นร่วมกัน แต่ในมุมของ KATALYST เราคิดว่าการใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันแค่ช่วงเวลาสั้นๆ บางครั้งอาจยังไม่พอ ความมุ่งมั่นของเราจะแตกต่างตรงที่เราคัดเลือกเคสที่คิดว่าสามารถทำธุรกิจได้จริง นำมาทำงานด้วยกัน เหมือนเราเป็นเจ้าของโปรเจกต์ร่วม ลองทำงานร่วมกับเขา ถ้าเขาประสบความสำเร็จ เราก็ประสบความสำเร็จไปกับเขา แต่ถ้าเฟล เราก็เฟลด้วย ซึ่งในระหว่างการทำงาน เราจะมุ่งใส่ Resource เข้าไปอย่างเต็มที่ ทั้งในด้านกำลังเงิน กำลังคน รวมทั้งกำลังสมอง พยายามทำให้ชิ้นงานที่ทำร่วมกันนี้สามารถออกสู่ตลาดให้ได้ และตอบโจทย์ให้กับลูกค้าของทางธนาคารได้จริง

ทั้งนี้ Startup ในโครงการ KATALYST แต่ละรายจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน อยู่ในมิติที่แตกต่างกัน เราจึงไม่เคยกำหนดระยะเวลาว่าต้องอยู่ด้วยกันกี่วัน กี่เดือน แต่แน่นอนว่าต้องมีการวัดผล ไม่ใช่ทำไปอย่างไร้จุดหมาย แต่จะยึดเป้าหมายของแต่ละชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์ เป็น Milestone ที่เราตัดสินใจร่วมกัน เรียกว่าทำการพัฒนาและทำงานด้วยกันในระยะยาว นี่คือจุดแตกต่างของ KATALYST

Q : Win-Win Solution ตามที่ KATALYST ตั้งเป้าหมายไว้ จะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร
คุณสุปรีชา : เมื่อมองถึงรูปแบบ Startup ทั่วโลก จะเห็นว่าทุกคนมาด้วยนวัตกรรม ประกอบกับ 2 สิ่งที่ทำให้ Startup แข็งแรง หนึ่งคือ เขาไม่มีกรอบแนวคิดเก่าๆ ฉะนั้นเขาจะคิดอะไรที่สด เร็ว ไม่ยึดติดกรอบเดิมๆ สองคือความคล่องตัว ต่างจากการทำงานในระบบธนาคาร

ตัวอย่างเช่น ถ้าธนาคารจะทำโปรเจกต์สักชิ้น เราต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาและขออนุญาตมากมาย แต่ Startup มีความคล่องตัวที่จะทำได้เร็วและปรับโฟกัสได้ดีกว่า การทำงานผ่าน Startup จะช่วย ตอบโจทย์ของลูกค้าและตลาดโดยใช้ความเร็วและความคล่องตัวของเขาได้ ถือเป็น Win สำหรับธนาคาร

ในส่วนของ Startup แทนที่จะลองผิดลองถูกเองทั้งหมดหรือเสียเวลาไปสำรวจตลาดด้วยตนเอง KATALYST จะมีโจทย์ที่ชัดเจนให้ มีคลังข้อมูลจากลูกค้าประมาณ 80-90% การทำงานร่วมกันจะช่วยให้เขามี Learning Curve ที่เติบโต สามารถเรียนรู้ที่จะสร้างบริการหรือผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาดได้จริง เหมือนเราช่วยสร้างทางลัดให้ ถือเป็น Win สำหรับ Startup

สุดท้าย เมื่อได้นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่พร้อมใช้งานก็จะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าและภาคธุรกิจของ Startup โดยรวม ถือเป็น Win สำหรับลูกค้าของธนาคารครับ

Q : พันธมิตรของ KATALYST สามารถช่วยเหลือและสนับสนุน Startup ได้อย่างไรบ้าง
คุณสุปรีชา : ด้วยความที่ Ecosystem นี้ใหญ่มาก ในส่วนของ KATALYST แรกเริ่มเรามุ่งมั่นที่จะเป็นสะพานเชื่อม Startup ให้เข้าสู่ตลาด ช่วยหาคำตอบและ Solution ต่างๆ ให้เกิดความสำเร็จ สิ่งที่แน่นอนคือองค์ความรู้ ทั้งในด้านธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่ KATALYST มี

ถัดมาคือเรารู้ว่าใครกำลังทำอะไรอยู่ ใครสามารถช่วยเราในเรื่องอะไรได้ สิ่งหนึ่งที่พบมากในการเริ่มต้นทำ Startup คือ ความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย โดยเฉพาะข้อจำกัด อะไรทำได้และทำไม่ได้ Startup หลายรายแม้กระทั่ง ในต่างประเทศ เมื่อถึงจุดหนึ่งอาจพบว่ามีสิ่งที่ละเมิดหรือฝ่าฝืนข้อกฎหมายโดยไม่ได้ตั้งใจ เราจึงมีพันธมิตรอย่าง Baker McKenzie บริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย ซึ่งมีทั้งความเข้าใจและลงทุนด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก มาเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำกับ Startup ในฐานะ Free Consultant ทั้งในแง่กฎหมายทั่วไปหรือการให้คำแนะนำเฉพาะด้าน

พันธมิตรสำคัญอีกราย คือ เมืองไทยประกันชีวิต ต้องบอกว่าสำหรับ Startup นอกจากผู้ก่อตั้ง พนักงานที่มาร่วมกันสร้างนวัตกรรมก็มีส่วนสำคัญมาก แต่ด้วยการทำงานของ Startup สิ่งที่จะต่างจากการทำงานบริษัทในองค์กรใหญ่ๆ คือ สวัสดิการ เป็นเรื่องยากมากที่บริษัทเล็กๆ ระดับ 5-10 คนหรือแม้กระทั่ง 20 คน นอกจากประกันสังคมแล้ว จะสามารถเข้าถึงประกันสุขภาพได้อย่างเต็มรูปแบบ ในจุดนี้ เมืองไทยประกันชีวิต จะเข้ามาช่วยทำแพ็คเกจประกันหมู่ที่เหมาะสมให้กับ Startup คือนอกจากจะดูแล Business Model ทางการตลาดแล้ว เรายังดูแลพนักงานของเขา รวมถึงครอบครัวของเขาด้วย เพื่อลดอัตราการเปลี่ยนงาน ทำให้คนตัดสินใจและกล้าที่จะมาทำงานกับ Startup มากขึ้น

Q : บทบาทของ Beacon ในฐานะผู้ดูแลโครงการร่วมกับ KATALYST เป็นอย่างไร
คุณสุปรีชา : จริงๆ ต้องบอกว่าในกสิกร เรามีหน่วยงานที่ทำงานกับ Startup เยอะมาก เฉพาะแค่กองทุนจริงๆ มี 2 กอง Beacon Venture Capital ถือเป็น Major Capital ที่ลงทุนตั้งแต่ระดับ Series A ขึ้นไปจนถึงระดับที่เตรียมจะ Exit แล้ว เป็นการลงทุนในลักษณะ Financial Investor และเรายังมี KVision เป็นบริษัทที่ลงทุนในลักษณะ Strategic Investment คือลงทุนในสัดส่วนหุ้น เพื่อเข้าร่วมตัดสินใจหรือช่วยกำหนดทิศทางบางอย่าง

ในส่วนของ KATALYST เมื่อ Product ของ Startup ดีพอ และถึงขั้นที่ต้องการระดมทุนเพื่อขยายตลาดหรือทำอะไรเพิ่มเติม นักลงทุนผู้ร่วมดูแลโครงการ KATALYST อย่าง Beacon Venture Capital ก็พร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุน ซึ่งไม่ใช่แค่การให้เงินทุน แต่ยังเป็น Financial Consultant หรือที่ปรึกษาทางการเงิน ควบคู่ไปกับการทำงานของธนาคารกสิกร ที่สามารถให้ความรู้ในด้านการบริหารจัดการการเงิน เพราะฉะนั้นก็จะเป็นส่วนเสริมกันไปครับ

Q : Startup ที่อยากเข้าร่วมโครงการ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
คุณสุปรีชา : อันดับแรกเลย ถ้าไม่มีไอเดียเลยไม่ได้นะครับ อันนี้ขอออกตัวชัดเจนเลยว่า KATALYST ไม่ได้มุ่งเน้นการสร้างสรรค์ไอเดีย ที่ต้องเน้นจุดนี้เพราะ Idea กับ Passion ต้องมาจากตัวผู้ประกอบการก่อน เขาต้องมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่อยากจะเอาชนะ ต้องเจอปัญหาบางเรื่องที่รู้สึกไม่โอเคกับสถานะแบบนี้ ไม่โอเคกับ ผลิตภัณฑ์แบบนี้ มีแนวคิดที่จะเอาชนะให้ได้ อยากสร้างสรรค์อะไรที่ดีกว่านี้ พอมีไอเดียเป็นจุดเริ่มต้น ตรงนี้ KATALYST เองยังไม่ได้ลงไปส่งเสริมชัดนัก คุณอาจจะไปเริ่มต้นอบรมหรือพัฒนาไอเดียจากที่อื่นก่อนก็ได้ จน Product Concept ของคุณชัดเจน มีทีมงานที่พร้อมทำ อาจจะมีแค่ 2-3 คนก็ได้ อย่าง Horganice ( Startup เกี่ยวกับการจัดการระบบหอพัก) ตอนเจอผมครั้งแรก เขาก็ไม่ได้ทีมขนาด 10-20 คน เขามีแค่ 3 คนเองมั้ง แต่ก็เป็น 3 คนที่เขาสามารถบอกได้ว่าแต่ละคนทำหน้าที่อะไรบ้าง เป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจน

จากนั้นจะถึงจุดที่มานั่งคุยกัน เพราะเราเชื่อมั่นว่าทัศนคติเป็นเรื่องสำคัญ เป็นการปรับจูนกัน หากเป็นคนที่ไม่ ประนีประนอมหรือไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรเลย หรือบางคนไร้จุดยืน เราต้องการเปลี่ยนอะไรก็เปลี่ยนตามหมด ก็อาจจะทำงานยากหน่อย ต้องหาจุดสมดุลด้วยกัน

Q : ความคาดหวังกับ KATALYST ในอนาคต
คุณสุปรีชา : สิ่งที่เราคาดหวังก็คือ ถ้า KATALYST ประสบความสำเร็จแล้วเดินต่อไปได้ เราจะสามารถสร้าง Startup ที่เป็นเพื่อนที่ช่วยให้กสิกรสามารถนำเสนอสิ่งดีๆ ให้กับลูกค้าของทางธนาคาร รวมทั้งอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะต้องสู้กับ Digital Disruption ได้ เราอยากเห็น Startup ยืนได้ด้วยตัวของตัวเอง ไม่ใช่แค่การขอความช่วยเหลือจากแบงก์ แต่เขาเองก็ได้องค์ความรู้บางอย่างที่สร้าง Impact ในตลาด ปีแรกเราทำร่วมกับ Startup จำนวน 4 ราย ได้แก่ Flowaccount , Builk One , Horganice และ Shippop ปีถัดไปอาจมีสัก 20 ราย ถ้าอีกสัก 5 ปี สามารถมีในลิสต์ได้สัก 100 ราย อันนี้เป็นความฝันเลยครับ